posttoday

บทเรียนความล้มเหลวปี49เตือนสติคณะรัฐประหาร

26 พฤษภาคม 2557

จากความผิดพลาด 3 ประการที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ คสช.ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การรัฐประหารสูญเปล่า

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ในที่สุดการเมืองของประเทศไทยได้เดินทางมาถึงในจุดที่กองทัพต้องออกมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล หลังจากคู่ขัดแย้งทางการเมืองไม่สามารถหาข้อสรุปที่แต่ละฝ่ายจะยอมรับกันได้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาจึงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต้องตัดสินใจฉีกรัฐธรรมนูญ

การดำเนินการของ พล.อ.ประยุทธ์ มีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงคัดค้าน โดยฝ่ายสนับสนุนต่างยินดีที่ทหารช่วยให้การเมืองมีจุดจบลงได้โดยไม่เสียชีวิตและทรัพย์สินไปมากกว่านี้ เหนืออื่นใดเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้กลับมาเดินหน้ากันใหม่ภายใต้รัฐบาลชั่วคราวที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนเสียงคัดค้านนั้นปรากฏว่าออกมาในลักษณะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเครื่องมือนอกระบบ เพราะไม่ต่างอะไรกับการทำให้ประชาธิปไตยของไทยขาดช่วงในการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่มีข้อหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือ การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ควรเป็นรูปธรรมไม่เสียของเหมือนกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตระหนักถึงโจทย์นี้หรือไม่ แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมมีคำตอบอยู่ในใจ เพราะอย่าลืมว่าในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองเกือบตลอด 10 ปีมานี้ นายทหารผู้ทรงอิทธิพลคนนี้ได้สัมผัสด้วยตัวเอง เพียงแต่ต่างกรรม ต่างวาระ และต่างอำนาจหน้าที่เท่านั้น

โดยเมื่อครั้งการรัฐประหารเมื่อปี 2549 พล.อ.ประยุทธ์ มียศเป็น “พลตรี” ในเวลานั้นได้มีส่วนสำคัญในการเป็นกำลังให้กับ พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศในขณะนั้น) ในการคุมกำลังทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อมาปี 2553 ยังได้เป็นหัวใจสำคัญของการช่วยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มีทั้งส่วนช่วยในการทำงานด้านความมั่นคงก่อนที่จะตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลในบั้นปลาย

ด้วยภูมิหลังของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงรัฐบาล 3 ชุดที่|ผ่านมา ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยให้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมรู้ดีว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้งอันส่งผลต่อเสถียรภาพของประเทศอยู่ตรงไหน และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปัญหาซ้ำรอยอีก

ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขปัญหาในระยะเฉพาะหน้าผ่านการออกประกาศไม่ให้มีการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาต่อต้านการทำงานของ คสช.ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการใช้อำนาจสั่งระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ชั่วคราว ซึ่งรวมไปถึงสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสังคมออนไลน์ด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบดีว่าหากไม่จัดระเบียบสื่อจะมีผลให้แรงต่อต้านการรัฐประหารขยายวงกว้างมากขึ้นจนยากต่อการควบคุม ซึ่งในระยะยาวย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อตัวกองทัพในการทำงานใหญ่ในอนาคต

สำหรับความล้มเหลวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในอดีตแบ่งออกเป็น 3 ด้าน

ด้านที่ 1 : การทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

คมช.เลือกแนวทางด้วยการเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนทางอ้อมผ่านการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2549 ในวันที่ 1 ต.ค. และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใช้อำนาจฝ่ายบริหารแทน คมช. ซึ่งนับเป็นเวลาที่ คมช.ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จประมาณเพียง 13 วัน นับตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย.

การตัดสินใจของ คมช.ครั้งนั้นนำมาซึ่งผลดีและผลเสียพร้อมๆ กัน

ผลดี คือ เป็นการช่วยให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาต่างชาติไม่เสียหายมากนัก อย่างน้อยเป็นการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลทหาร เพราะหากให้ทหารครองอำนาจนานเกินไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว ส่วนผลเสีย คือ ไม่เกิดความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาบางประการ โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคง

อย่าลืมในระหว่างรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ บริหารประเทศอยู่นั้น ปรากฏว่าเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในนาม “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

แม้รัฐบาลจะปล่อยให้กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างมีอิสระ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงและหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกสั่นคลอน แต่อีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งการทำให้กลุ่มเสื้อแดงสามารถขยายตัวสร้างแนวร่วมได้มากขึ้น จนกระทั่งมีมวลชนบางกลุ่มอาศัยจังหวะนี้เคลื่อนไหวในลักษณะให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่ากับว่าการไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมของรัฐบาลในขณะนั้นจึงนำมาสู่ปัญหาอีกมหาศาลอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ผลของความบกพร่องในการบริหารงานด้านความมั่นคงอีกประการหนึ่งเห็นจะเป็น “เหตุการณ์ระเบิดช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่” เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2549 ในหลายจุดของ กทม. มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 38 ราย สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานความมั่นคงหน่วยใดสามารถนำผู้ก่อความไม่สงบมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้

ด้านที่ 2 : การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

ตลอดเวลาของการครองอำนาจของ คมช.และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับงานนิติบัญญัติเป็นอย่างมากผ่านการสถาปนา “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เพื่อจัดทำกฎหมายสำหรับเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน และ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นการสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนและจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรทางการเมืองขึ้นมาใหม่

ความเป็นรูปธรรมที่พอจะนำมากล่าวอ้างเป็นผลงานได้ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพราะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในระดับหนึ่งว่าแม้จะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ในด้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่คุ้มครองประชาชนในหลายด้าน ภายใต้เจตนารมณ์ที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ (2) การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม (3) การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม (4) การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตรงกันข้ามกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่กลับถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับศักยภาพของการตรากฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์แก่|ประเทศและประชาชนในด้านการกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการวางกลไกควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หลังจากมีกฎหมายสำคัญถึง 6 ฉบับที่ต้องถูกเพิกถอนด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากองค์ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ครบ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รอบคอบและความบกพร่อง

โดยกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 4.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม 5.ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 6.ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน

ด้านที่ 3 : การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ คมช.ตัดสินใจยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อมา คมช.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มี “นาม ยิ้มแย้ม” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธาน

การตั้ง คตส.ในปี 2549 นั้น ทาง คมช.ได้นำเอาบทเรียนของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ตั้ง คตส.เมื่อปี 2534 มาพิจารณาด้วย เพราะ คตส.ภายใต้ร่มเงาของ รสช.ได้พยายามใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเองด้วยการยึดทรัพย์ในคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่สุดท้ายต้องล้มเหลว เพราะศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า คตส.ไม่มีอำนาจยึดทรัพย์

จากบทเรียนที่เกิดขึ้น คมช.จึงได้วางโครงสร้างอำนาจของ คตส.ขึ้นมาใหม่ โดยให้อำนาจยึดทรัพย์เป็นของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการจะยึดทรัพย์ได้นั้นจะต้องมาจากฐานความผิดใน 3 กรณี ประกอบด้วย การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติ และการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำให้ในที่สุด คตส.สามารถเปิดโปงการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำนวนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ในเวลาต่อมา

แต่ทว่าในความสำเร็จก็มีความล้มเหลวซ่อนอยู่ เนื่องจากมีหลายคดีที่ คตส.ไม่สามารถเอาผิดได้ เช่น โครงการท่อร้อยสายไฟฟ้าภายในสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ โครงการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว โครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพารา เป็นต้น จึงไม่อาจเรียกได้ว่าการรัฐประหารของ คมช.ได้นำมาซึ่งการวางรากฐานของการปราบปรามการทุจริตได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น จากความผิดพลาด 3 ประการที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ คสช.ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การรัฐประหารเสียของหรือสูญเปล่า