posttoday

ปปช.ท้าชน กรธ. ศึกนี้ไม่มีเกียร์ถอย

20 ตุลาคม 2560

นอกเหนือไปจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับจะเป็นที่สนใจแล้วยังมีกลุ่มกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นอกเหนือไปจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับจะเป็นที่สนใจของประชาชนเนื่องจากเป็นเงื่อนไขของการกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ยังมีกลุ่มกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ เป็นเพราะการปราบปรามการทุจริตเป็นหนึ่งในภารกิจของการปฏิรูปประเทศตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนด ดังจะเห็นได้เมื่อครั้งบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพราะได้บัญญัติให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะต้องมีมาตรการในการปราบโกงด้วยในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

"คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย

กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้อง คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด"

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เต็มไปด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับการทุจริตมากมาย เช่น การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองค่อนข้างเข้มงวดยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต หรือในกรณีที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบาย ที่อาจกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง องค์กรอิสระสามารถทำงานเชิงรุก โดยส่งความคิดเห็นเพื่อให้รัฐบาลยับยั้งได้ทันที เป็นต้น

เมื่อกฎหมายแม่วางหลักการของการปราบปรามการทุจริตเอาไว้เข้มข้น บรรดากฎหมายลูกในกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงมีเนื้อหาที่คุมเข้มการทุจริตให้สอดรับกัน โดยมีด้วยกัน 2 ฉบับ

1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ เนื้อหาข้างในนับว่าเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะกรณีที่จำเลยจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาล หากต้องการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการเปิดโอกาสให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในกรณีที่จำเลยหลบหนีไประหว่างการพิจารณาคดี

2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่ง กรธ.วางหลักให้การปราบทุจริตต้องดำเนินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อยกระดับการทำงาน หลังจากปัจจุบันมีคดีทุจริตที่ค้างอยู่ในสารบบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างกฎหมาย ป.ป.ช.นั้นกำลังเกิดความ ไม่ลงรอยกันอย่างหนักระหว่าง กรธ. ในฐานะผู้ร่างกฎหมาย และ ป.ป.ช. ในฐานะผู้ใช้กฎหมาย หลังจาก ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่กฎหมายกำหนดและได้จัดทำความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง กรธ.เพื่อให้แก้ไขกฎหมายจำนวน 7 ประเด็น

อาทิ การให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เข้ามาตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลฎีกาตั้ง ผู้ไต่สวนอิสระมาตรวจสอบอยู่แล้ว หรือความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตถูกตัดออกทั้งหมด จึงเป็นช่องทางให้มีการฟ้องร้อง เจ้าหน้าที่เพื่อประวิงคดี เนื่องจากต้องไปต่อสู้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เป็นต้น

จากสภาพที่เกิดขึ้น ป.ป.ช.กลายเป็นอีกองค์กรหนึ่งนอกเหนือไปจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้ออกมาเปิดหน้าชนกับ กรธ.อย่างชัดเจนผ่านการแสดงความไม่พอใจต่อการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ต้องยอมรับว่าเหตุผลหนึ่งที่มีผลให้เกิดการแลกหมัดกันระหว่าง กรธ.กับองค์กรอิสระ มาจากการ "รีเซตองค์กรอิสระ"

การรีเซตองค์กรอิสระเป็นยาแรงที่มีระดับรองลงมาจากการ "เซตซีโร่" เพราะการรีเซตยังเปิดโอกาสให้ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระที่ ทำหน้าที่มาก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่ายังมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ตรงกันข้ามกับเซตซีโร่ เนื่องจาก ไม่สนใจว่าใครจะมีคุณสมบัติครบ หรือไม่ โดยทันทีที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับองค์กรนั้นประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อไหร่ ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะ รีเซตหรือเซตซีโร่ก็ล้วนแต่สร้างความไม่พอใจกับองค์กรอิสระทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ป.ป.ช. เพราะมาตรการรีเซตของ กรธ.นั้นส่งผลให้อาจมีกรรมการ ป.ป.ช.ปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญต้อง พ้นจากตำแหน่งถึง 7 คน

แม้ ป.ป.ช.จะไม่ได้เสนอให้ กรธ.ทบทวนเรื่องการรีเซต ป.ป.ช. เพราะไม่ต้องการให้ถูกมองว่า ป.ป.ช.สนใจแค่เรื่องตัวเอง แต่การทำหนังสือมาให้ กรธ.แก้ไขร่างกฎหมาย ป.ป.ช.เกือบทุกมาตรา ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่าการตอบโต้ของ ป.ป.ช.เป็นผลจากความ ไม่พอใจเรื่องการถูกรีเซตในระดับหนึ่ง

ภายใต้สถานการณ์ลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่าจะต้องเกิดการสู้กันระหว่าง ป.ป.ช.และ กรธ.อย่างยืดเยื้อ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการ ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไปจนถึงการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ดังนั้น ความไม่ลงรอยกันที่เกิดขึ้นจากแผลเล็กๆ อาจกลายเป็นแผลใหญ่ในอนาคต เพราะต้องไม่ลืมว่า ป.ป.ช.ชุดนี้มีบิ๊ก คสช.บางคนให้การสนับสนุนอยู่ ศึกนี้จึงห้ามกะพริบตา เด็ดขาด