posttoday

สนช.คุมเซตซีโร่ เปิดทาง คสช.คุมองค์กรอิสระ

07 กันยายน 2560

กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับแนวทางการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ เมื่อ​ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์​ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินมาตรา 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรธน.

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับแนวทางการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ เมื่อล่าสุด ​ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์​ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินมาตรา 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ​

นอกจากจะสะท้อนให้เห็นทิศทางการพิจารณากฎหมายแล้ว อีกด้านยังสะท้อนให้เห็นอำนาจการชี้ขาดเนื้อหาในกฎหมายลูกซึ่งอยู่ในมือของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ​

จากก่อนหน้านี้ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินให้ผู้ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง

แม้ทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายจะเห็นพ้องกับ กรธ. แต่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2 ของ สนช. มีสมาชิกเสนอแปรญัตติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันอยู่ต่อจนครบวาระตาม พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 ​และที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับแนวทางนี้

ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการแก้ไขของ สนช. ต่างจากร่างของ กรธ.อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ จนนำมาสู่การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว

ว่ากันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินถือเป็นการชิมลาง ว่า สนช.จะสามารถปรับแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีปัญหาถึงขั้นขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร

สอดรับกับที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า หลังจากนี้ กรธ.ยังยืนยันว่าเรายังคงเขียนคุณสมบัติขององค์กรอิสระในกฎหมายลูกที่เหลืออยู่ตามหลักการเดิม คือ ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

“ส่วน สนช.จะไปแปรเปลี่ยนภายหลังก็ไม่ว่าอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถทำได้ และหาก สนช.จะแก้ให้พวกเขาอยู่ต่อ ทาง กรธ.ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปโต้แย้ง” มีชัย กล่าว

นั่นทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับตาไปยัง​ทิศทางขององค์กรอิสระสำคัญอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะถูกเซตซีโร่หรือไม่

เมื่อ ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรสำคัญที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายต่อทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ดังจะเห็นมีความพยายามเข้ามาแทรกแซงหรือกดดันจากฝ่ายการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางการจับตาของสังคมว่าองค์กรอิสระใดบ้างจะถูกเซตซีโร่อีกบ้างต่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ​พร้อมคำถามว่าใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาตัดสินชี้ขาดองค์กรอิสระ

ยิ่ง ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในองค์กร​ที่มีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศแล้ว

อีกด้านหนึ่งยังมีความพยายามโยงไปถึงที่มาที่ไปเชื่อมโยงไปถึงบิ๊ก คสช. ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคนที่ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ล้วนแต่ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อย

ปัญหาอยู่ที่ท่าทีล่าสุดจาก กรธ. ​เมื่อ มีชัย ระบุว่า การร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทาง กรธ.ยืนยันว่ายังคงกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องไปถาม สนช.

แน่นอนว่าท่าทีของ กรธ.เช่นนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับบิ๊ก คสช. ​ที่เหมือนจะต้องการให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งทำหน้าที่ต่อไป

ทว่า คำชี้แจงจากทาง​ กรธ.เรื่องจะให้องค์กรใดเซตซีโร่หรือไม่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนสักทีเดียว

แต่จากกรณีของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ สนช.มาแก้ไขในขั้นตอนสุดท้าย โดยอาศัยเสียงของ สนช.เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาการันตีความถูกต้องของการดำเนินการดังกล่าว 

สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจสุดท้ายอยู่ที่ สนช.ที่จะพิจารณาชี้ขาดเนื้อหาในร่างกฎหมายว่าจะให้ออกทางไหน อย่างไร

หากพิจารณาที่มาที่ไปของ สนช.​ ก็จะเห็นว่ามีที่มาจาก คสช. อีกทั้งการตัดสินใจหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาใน สนช.​ก็ถูกมองว่ามีสัญญาณหรือรับลูกมาจาก คสช. นี่จึงเป็นอีกช่องทางที่จะควบคุมทิศทางองค์กรอิสระในอนาคต