posttoday

รัฐบาลแห่งชาติ วิถีปรองดองของ 'เอนก'

06 กันยายน 2560

การปฏิรูปประเทศในรอบที่ 3 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 คณะที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การปฏิรูปประเทศในรอบที่ 3 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 คณะที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ได้ทยอยประชุมหารือกันอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่มี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ

“การจัดทำแผนปฏิรูปการเมืองทางคณะกรรมการจะไม่เริ่มจากศูนย์หรือนับหนึ่งใหม่ แต่จะนำแผนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)และแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการไว้ รวมถึงผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ มาต่อยอด” เอนก บอกถึงแนวทางการทำงานภายหลังประชุมคณะกรรมการวันแรกเมื่อวันที่ 5 ก.ย.

ท่าทีที่ออกมาดังกล่าวของเอนก ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ทางหนึ่งว่าจะเป็นการเอาผลงานที่ผ่านมาปัดฝุ่นและปรับปรุงเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยนับตั้งแต่มีการรัฐประหารและจัดตั้งแม่น้ำ 5 สายมา ได้เคยมีแนวทางการสร้างความปรองดองทางการเมืองออกมาจากมันสมองของเอนก 2 ครั้งด้วยกัน

ครั้งที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช.

ครั้งนั้นคณะกรรมการมีข้อเสนอว่าการจะทำให้การสร้างความปรองดองประสบความสำเร็จ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 6 ประการ

1.การปรองดองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบังคับกันได้และจำเป็นต้องใช้เวลา เนื่องจากการปรองดองเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม

2.การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นสิ่งจำเป็นต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะการแสวงหาข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจร่วมต่อเหตุการณ์รุนแรง

3.ผู้นำรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นว่ามีความตั้งใจจริง หรือเจตจำนงทางการเมืองที่จะสร้างความปรองดองในชาติได้ด้วยการสื่อถึงความเข้าใจในปัญหา

4.แต่ละฝ่ายควรตระหนักว่าสังคมไทยในปัจจุบันยังมีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายอยู่ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิอาจจะ “ชนะ” อีกฝ่ายได้เบ็ดเสร็จ

5.การที่จะได้มาซึ่งกติกาในการอยู่ร่วมกันใหม่ จำเป็นต้องมาจากการมีส่วนร่วมของตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อมิให้ถูกมองว่าเป็นกติกา “ของผู้ชนะ”

6.กลไกในการสร้างความปรองดองควรเป็นกลไกที่มีความอิสระในการทำงาน ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากทุกฝ่าย รวมทั้งมีกรอบเวลาและงบประมาณเพียงพอในการทำงานที่สอดคล้องกับสภาพและระดับของความขัดแย้งที่เป็นจริง

ครั้งที่ 2 การดำเนินการในฐานะสมาชิก สปช. เมื่อเดือน ส.ค. 2558

ทั้งนี้ ได้เป็นผู้ก่อการในการเสนอญัตติต่อที่ประชุม สปช. เรื่องการมีกลไกและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สปช.มีมติให้เสนอประเด็นในการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ (คำถามพ่วงประชามติ)

โดยเนื้อหาในรายละเอียดที่เสนอไว้ในญัตติดังกล่าวได้ระบุเอาไว้ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจาก สส.ในสังกัดไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (360 คนจาก 450 คน)”

ข้อเสนอที่กำหนดไว้ในญัตติดังกล่าวนั้น ถูกเรียกสั้นๆ ว่า “การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ”

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ เนื่องจากที่ประชุม สปช.มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ สปช.ไม่ได้มีโอกาสได้ลงมติในญัตติดังกล่าว ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อดูจากข้อเสนอของเอนกในช่วงที่ผ่านมา แน่นอนว่าทุกย่างก้าวของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองจึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง