posttoday

กันยายนเดือด ชี้อนาคต 'ยิ่งลักษณ์'

05 กันยายน 2560

เดือน ส.ค.เพิ่งผ่านพ้นมาได้ไม่กี่วัน ต้องยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าทบทวนความทรงจำกันอยู่ไม่น้อยทั้งฝ่ายของคสช. และพรรคเพื่อไทย

 

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เดือน ส.ค.เพิ่งผ่านพ้นมาได้ไม่กี่วัน ต้องยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าทบทวนความทรงจำกันอยู่ไม่น้อย ทั้งฝ่ายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพรรคเพื่อไทย

วันที่ 2 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับพวกรวม 4 คน ในคดีการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

การพิพากษายกฟ้องทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกอาการทันทีด้วยการส่งสัญญาณให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์เร่งอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อขอให้ทบทวนคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว แต่ ป.ป.ช.มีมติตัดสินใจเสนอเรื่องอุทธรณ์ทบทวนเพียงคนเดียว คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

วันที่ 15 ส.ค. คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ เพื่อลุยงานปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ซึ่งรายชื่อคณะกรรมการปรองดองหลายคน ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยผ่านการทำงานในตำแหน่งแม่น้ำ 5 สายมาแล้วแทบทั้งสิ้น อาทิ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กลับมาอีกครั้งในตำแหน่งประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้รับตำแหน่งประธานกรรมการปฏิรูปการเมือง เป็นต้น

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้ ส่งผลให้เกิดเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน โดยเสียงสนับสนุนก็มองว่าจะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่อีกฝ่ายกลับเห็นว่ากระบวนการปฏิรูปประเทศแทบไม่มีอะไรต่างจากเดิม เพราะมีการเอาคนหน้าเก่าๆ กลับมาทำงาน

วันที่ 25 ส.ค. ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ “บุญทรง เตริยาภิรมย์”อดีต รมว.พาณิชย์ จำคุกเป็นเวลา 42 ปี ในคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ จีทูจี) ซึ่งต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองว่าเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ต้องคำพิพากษาจำคุกมากที่สุด โดยขณะนี้ทนายความของบุญทรงกำลังพยายามหาทางสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

พิจารณาแต่ละเหตุการณ์สำคัญแล้ว ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะวันดังกล่าวนอกจากเป็นวันที่พิพากษาบุญทรงแล้ว ยังเป็นวันที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการจำนำข้าว

แต่ปรากฏว่ายิ่งลักษณ์ไม่ได้มาตามนัด จนศาลฎีกาฯ ต้องออกหมายจับและเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 ก.ย.

ดังนั้น หากจะบอกว่าวันที่ 27 ก.ย. เป็นวันชี้ชะตายิ่งลักษณ์ก็คงไม่ผิดนัก

ตามขั้นตอนทางกฎหมายไม่ว่าวันนั้นยิ่งลักษณ์จะเดินทางมายังศาลฎีกาฯ หรือไม่ ศาลฎีกาฯ จะดำเนินการอ่านคำพิพากษาลับหลังทันที ซึ่งคำพิพากษาที่ออกมาในวันดังกล่าวจะส่งผลต่ออนาคตและอิสรภาพของยิ่งลักษณ์อย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ หากศาลพิพากษายกฟ้องและให้ยิ่งลักษณ์เป็นผู้บริสุุทธิ์ เท่ากับว่าหมายจับยิ่งลักษณ์ที่ออกมาก่อนหน้านี้จะต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และมีผลให้ยิ่งลักษณ์กลับเข้าประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับกรณีที่ถ้าศาลฎีกาฯ พิพากษาให้มีความผิดแต่รอลงอาญา ก็จะทำให้หมายจับสิ้นผลทันที และยิ่งลักษณ์ย่อมเดินทางกลับสู่มาตุภูมิได้อย่างไม่ต้องระแวงอีก

อย่างไรก็ตาม ทั้งกรณีศาลยกฟ้องหรือรอลงอาญา ต้องไม่ลืมว่าอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา

แต่ถึงกระนั้นชีวิตของยิ่งลักษณ์อาจต้องผกผันอีกรอบ หากคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย. ไม่ได้เป็นคุณกับยิ่งลักษณ์ คือ การพิพากษาให้จำคุก

ไม่ว่าจะถูกพิพากษาให้ต้องจำคุกเป็นเวลาเท่าไหร่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ยิ่งลักษณ์ในฐานะจำเลยย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ได้ พร้อมกับใช้สิทธิยื่นขอประกันตัวแบบที่บุญทรงกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ทว่า หากในระหว่างนั้นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผลบังคับใช้ จะมีผลต่อยิ่งลักษณ์โดยตรงอย่างน่าสนใจ

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ศาลฎีกาฯ จะพิจารณาคำอุทธรณ์ของจำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลเท่านั้น หมายความว่า ยิ่งลักษณ์ต้องมายื่นคำร้องด้วยตัวเอง ไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นมาทำการแทนตามกฎหมายปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านี้ ร่างกฎหมายฉบับที่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษายังระบุอีกเรื่องที่ว่าการหลบหนีคดีของจำเลยมีผลให้ไม่ต้องมีการนับอายุความไว้ชั่วคราว จึงไม่ต่างอะไรกับการที่ยิ่งลักษณ์ต้องอาจหนีไปตลอดชีวิต

ดังนั้น เมื่่อชะตากรรมของยิ่งลักษณ์เดินมาถึงจุดนี้แล้ว วันที่ 27 ก.ย. จะเป็นวันกำหนดอนาคตว่ายิ่งลักษณ์จะหนีชั่วคราวหรือหนีตลอดชีวิต