posttoday

เปิดแฟ้ม 7 คตง. องครักษ์เงินแผ่นดิน

11 สิงหาคม 2560

ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่เกิดปัญหาพอสมควร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่เกิดปัญหาพอสมควร เนื่องจากมีปัญหาภายในจนนำมาสู่สุญญากาศที่ไม่สามารถหาบุคคลมาทำหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ ทำให้ต้องตั้งบุคคลมาทำหน้าที่รักษาการ
ผู้ว่าฯ สตง.มาเป็นเวลานาน

กระทั่ง เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาและสั่งให้มีการดำเนินการสรรหา คตง.ชุดใหม่ 7 คน เพื่อให้ได้ คตง.มาทำหน้าที่ควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน และดำเนินการสรรหาผู้ว่าฯ สตง.ตัวจริง

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง คตง.จำนวน 7 คนเป็นที่เรียบร้อย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ (ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน) ได้รับความเห็นชอบ 188 ต่อ 21 คะแนน จบการศึกษาบริหารธุรกิจการบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

2.พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ (ด้านกฎหมาย) ได้รับความเห็นชอบ 206 ต่อ 4 คะแนน ปัจจุบันเป็นเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3.จินดา มหัทธนวัฒน์ (ด้านบัญชี) ได้รับความเห็นชอบ 205 คะแนน ต่อ 6 คะแนน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สุภา ปิยะจิตติ) โดยก่อนหน้านี้นับเป็นลูกหม้อของกระทรวงการคลัง เพราะผ่านหลายตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานด้านกฎหมายและระเบียบการคลัง กรมบัญชีกลาง และรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง

4.พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ (ด้านการตรวจสอบภายใน) ได้รับความเห็นชอบ 201 ต่อ 5 คะแนน ก่อนหน้านี้เป็นเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 66 ตุลาการศาลทหารกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และหัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

5.วีระยุทธ ปั้นน่วม (ด้านการเงินการคลัง) ได้รับความเห็นชอบ 195 ต่อ 15 คะแนน จบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

6.สรรเสริญ พลเจียก (ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน) ได้รับความเห็นชอบ 166 ต่อ 36 คะแนน จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันสรรเสริญดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช.

7.ศ.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป (ด้านกฎหมาย) ได้รับความเห็นชอบ 203 ต่อ 8 คะแนน จบการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับการประชุมลับ สนช.เพื่อลงมติเลือก คตง.นั้นได้ใช้เวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 7 คน ซึ่งปรากฏว่าสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายเน้นไปที่กรณีของเลขาธิการ ป.ป.ช.

เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องที่สรรเสริญได้ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของ ป.ป.ช.ในการจ้างทนายความเพื่อฟ้องคดีอาญาในหลายคดีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่ง และ ป.ป.ช.ต้องนำคดีนั้นมาฟ้องเองว่ามีการใช้งบประมาณตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำงานของสรรเสริญ เพราะเป็นเพียงแค่การอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเท่านั้น โดยยังไม่ได้มีการชี้มูลว่ามีความผิดหรือไม่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ คตง.ทั้ง 7 คนจะเป็น คตง.ชุดแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีอำนาจและหน้าที่เพิ่มขึ้นแตกต่างจาก คตง.ในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ คตง.เห็นว่าหากมีการใช้งบประมาณแผ่นดินในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและอาจก่อให้เกิดความเสียหาย คตง.สามารถปรึกษาร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ป.ป.ช. เพื่อส่งเรื่องไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า

ดังนั้น นับจากนี้ไปภารกิจของ คตง.ชุดใหม่ที่รออยู่ข้างหน้านับว่าโหดหินพอสมควร