posttoday

คุมเบ็ดเสร็จ สกัดป่วน สิงหาฯเดือด

11 สิงหาคม 2560

สถานการณ์การเมืองร้อนระอุมากขึ้นในเดือนสิงหาฯ เดือด ซึ่งมีคดีการเมืองสำคัญจ่อคิวรอการชี้ขาดตัดสินแน่นตลอดทั้งเดือน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์การเมืองร้อนระอุมากขึ้นในเดือนสิงหาฯ เดือด ซึ่งมีคดีการเมืองสำคัญจ่อคิวรอการชี้ขาดตัดสินแน่นตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะไฮไลต์สำคัญกับคดีรับจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 ส.ค. ที่เริ่มพบสัญญาณการปลุกมวลชนออกมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง

หลังชิมลางวัดพลังมวลชนรอบแรกในวันที่ 1 ส.ค. กับการแถลงปิดคดีของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์

ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการกดดันและสกัดกั้นการแสดงออกอย่างชัดเจน จนนำไปสู่การเรียกร้องให้เปิดพื้นที่แสดงความคิดความเห็นอย่างอิสระ รวมทั้งเปิดกว้างให้มวลชนสามารถออกมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ระหว่างรับฟังคำตัดสินคดีได้เต็มที่

นับเป็นมาตรการสกัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้ทุกอย่างบานปลายจนควบคุมไม่อยู่ แถมดำเนินการสกัดกั้นความเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงจะซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นตามด้วย

ล่าสุด กับคำสั่งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ช่องพีซทีวี อีกหนึ่งกระบอกเสียงกลุ่มเสื้อแดงเป็นเวลา 30 วัน

จากการออกอากาศรายการ “เข้าใจตรงกันนะ” เมื่อวันที่ 4 ก.ค. และรายการ “ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์” เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งมีเนื้อหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

ต้องเรียกว่าเป็นอีกมาตรการเชิงรุกที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาศาลปกครองกลางได้มีมติคุ้มครองชั่วคราวการยกเลิกใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์พีซทีวี แต่ทาง กสทช.ก็ใช้เปลี่ยนมาใช้วิธีการพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราว

เมื่อช่องทางการสื่อสารของกลุ่มคนเสื้อแดงนี้เป็นเพียงไม่กี่ช่องทางที่สามารถเข้าถึงมวลชนและนำไปสู่การปลุกกระแสหรือระดมมวลชน จนทำให้ไม่อาจนิ่งนอนใจปล่อยไว้เป็นหอกข้างแคร่ที่จะย้อนกลับมาสร้างปัญหาในอนาคต

สอดรับไปกับท่าทีของแกนนำเพื่อไทย และเสื้อแดง ที่ออกมาขย่ม คสช.และปลุกกระแสมวลชนหนักขึ้น จนทาง คสช.ต้องงัดไม้แข็งออกมาปิดปากสยบการเคลื่อนไหว

ไล่มาตั้งแต่ วัฒนา เมืองสุข แกนนำเพื่อไทย ที่ออกมากระทุ้ง คสช.ให้ยุติการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากประชาชนในการแสดงความคิดเห็น

ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ วัฒนา ออกมาชี้แจงว่า การเดินทางมาให้กำลังใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ผิดกฎหมาย การถือป้ายให้กำลังใจก็ทำได้โดยชอบ เพราะเป็นเสรีภาพตามมาตรา 34 และ 36 ของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ใช่ข้อความที่ผิดกฎหมาย เช่น หมิ่นประมาท หรือละเมิดอำนาจศาล

“ดังนั้น ในวันที่ 25 ส.ค. อันเป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา พี่น้องประชาชนที่อยากเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษาพร้อมกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็มาได้ตามสะดวก”

นำมาสู่การปฏิบัติการสกัดการเคลื่อนไหว เรียก วัฒนา มากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อลงบันทึกประจำวันเพิ่มเติมและเตรียมจะนำตัวส่งฟ้อง ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ รวมถึงการโพสต์ข้อความเข้าข่ายดูหมิ่นศาล

“มองว่าการพยายามควบคุมตัวตนเองนั้น สร้างความหวาดกลัว มีเจตนาไม่ต้องการให้ตนเองแสดงความเห็นตามช่องทางต่างๆ โดยคาดว่าจะเชื่อมโยงกับวันที่ 25 ส.ค.นี้ ที่จะมีการตัดสินคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสกัดขัดขวางประชาชนที่จะมาให้กำลังใจในวันดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

สอดรับกับการเคลื่อนไหวอีกด้านที่สั่งสกัดการเคลื่อนไหวของรถตู้ กรณีรับจ้างนำมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ด้วยการตั้งข้อหาว่าด้วยความผิด พ.ร.บ.ขนส่ง 2 ประเภท 1.ประเภทรถประจำทาง มีความผิดตามมาตรา 27 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หมายความว่าต้องวิ่งประจำทาง วิ่งนอกเส้นทางไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

อีกด้าน 2.ประเภทรถไม่ประจำทาง มีความผิดตามมาตรา 32 สอบถามพบว่าผิดเงื่อนไข เนื่องจากไม่มีสัญญาจ้างเหมา อัตราโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีนี้มีรถตู้กระผิด 17 คัน

ล้วนแต่สร้างความหวาดกลัวไม่ให้รถตู้รับจ้างขนคนมาในวันที่ 25 ส.ค.นี้

อีกด้านหนึ่ง ยังพบการเคลื่อนไหวของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทราบและกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.

หลังรับทราบว่า อปท.จำนวนหนึ่ง ได้จัดทำโครงการลักษณะการศึกษาดูงาน หรือสัมมนา มีเจตนาแอบแฝงเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

มาตรการต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่ออกมาเพื่อสกัดการเคลื่อนไหวของมวลชนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนยากจะนำไปสู่แรงกระเพื่อมสั่นคลอนเสถียรภาพ คสช.ในอนาคต