posttoday

คสช. สั่ง "ทหาร" ออกโรง ​ ไพ่ใบสุดท้ายเดิมพันปราบทุจริต

17 กรกฎาคม 2560

หากการขยับ​ครั้งนี้ ยังไม่อาจสร้างผลงานการปราบทุจริตที่จับต้องได้ แรงกดดันย่อมทวีความรุนแรงย้อนกลับมายัง คสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”  เกิดขึ้นตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการเปิดพื้นที่  กองทัพบก กองทัพภาค และหน่วยทหารของกองทัพบก​เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริต 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่การให้ “กองทัพ” เข้ามาเป็นแม่งานปราบปรามการทุจริตด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการ เปิดตู้ ปณ. และสายด่วนให้ประชาชนได้แจ้งเบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ การเรียกรับสินบน หรือผลประโยชน์ทุกรูปแบบที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง

ถึงขั้นมอบหมายให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช. เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง  

สัญญาณจาก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. สะท้อนชัดเจนว่า​การขยับครั้งนี้ เพราะรัฐบาล คสช.ต้องการเอาจริงเอาจังกับการทุจริตและต้องการเร่งดำเนินการเอาผิดอย่างเด็ดขาด  โดย ​พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้การทุจริตประพฤติมิชอบหมดไปจากสังคมไทย

“การปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้ใสสะอาด สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะถูกรวบรวมส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป” 

คสช.ขอความร่วมมือประชาชนหากพบเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งเบาะแสได้ทางตู้ ปณ.444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 หรือสำนักงานเลขาธิการ คสช. ตู้ ปณ.444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 และเบอร์ Hot line 1299 โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เช้าวันที่ 14 ก.ค.เป็นต้นมา

รวมทั้งการแจ้งตรงที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในหน่วยทหารแต่ละพื้นที่ของกองทัพภาคทั่วประเทศ

ต้องยอมรับว่าเรื่องการปราบปรามการทุจริตถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทาง คสช. ประกาศเป็นสัญญาประชาคมตั้งแต่รัฐประหารว่าจะเข้ามาสะสางจัดการมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทยมานานให้หมดไป

ทว่าผ่านมา 3 ปีกว่า ผลงานการปราบปรามการทุจริตยังไม่เข้าตาประชาชน เรื่อง สินบน ซื้อขายตำแหน่ง ฮั้ว ในการจัดซื้อจัดจ้างยังปรากฏให้เห็นเช่นเดิมและหลายเรื่องเกี่ยวพันไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ

ขณะที่ การใช้มาตรา 44 เข้าไปดำเนินการ เป็นเพียงแค่สั่งพักงาน ปลด โยกย้าย เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตแค่บางส่วน แต่อีกหลายกรณีก็ยังไม่ได้ดำเนินการ

การปรับปรุงโคงสร้าง กลไก การถ่วงดุลตรวจสอบที่ออกมาบางส่วนยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะสกัดการทุจริตอย่างที่สังคมคาดหวัง ขณะที่กลไกสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังต้องรอขั้นตอน การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่จะออกตามมาถึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย.​2557 ภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหน้าที่เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติเพื่อให้การแก้ปัญหาการทุจริต แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์อย่างที่คาดหวังได้

สุดท้ายการปราบปรามทุจริตซึ่งเคยถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติจึงยังไม่มีอะไรที่จับต้องได้ชัดเจน

การต้องให้ “ทหาร” ออกโรงมาปราบทุจริตด้วยเองในห้วงเวลานี้จึงอาจเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายในมือเพื่อเดิมพันกับการปราบปรามทุจริต ​

ประการแรก แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาปราบทุจริตอย่างที่เคยได้ลั่นวาจาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจเป็นเพราะที่ผ่านมากลไกการทำงานยังดูติดขัดตามกรอบระเบียบเดิมๆ จนทำให้ไม่มีความคืบหน้า

แม้จะไม่ถึงขั้นเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้ทันทีทันได้ แต่การเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน​เพื่อเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหา และสามารถเลือกดำเนินการนำเรื่องร้องเรียนที่มีหลักฐานความผิดชัดเจนมาเข้าสู่กระบวนการก็จะถือเป็นผลงานที่จับต้องได้

หรืออย่างน้อยก็พอจะสกัดไม่ให้คนที่จะกระทบผิดทุจริตในช่วงนี้ ไม่บุ่มบ่าม ย่ามใจ เหมือนที่ผ่านมา

ประการที่สอง เพื่อแก้ปัญหา “จุดด่อน” ในกลไกการป้องปรามทุจริตในปัจจุบัน ซึ่งทำให้หลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข หลายเรื่องยังค้างอยู่ในระบบตรวจสอบ หลายเรื่องไม่ได้รับการหยิบยกนำมาพิจารณา

สะท้อนให้เป็นความไร้ประสิทธิภาพในกลไกปราบทุจริตที่เป็นอยู่

ประการที่สาม การที่ทหารเข้าเป็นคนกลางรับเรื่องร้องเรียนด้วยตัวเอง ย่อมจะช่วยลดความเกรงกลัวทั้งเรื่องผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ รวมไปถึงบางเรื่องที่เกี่ยวข้องโยงใยไปถึงคนมีสีที่อยู่เบื้องหลัง ที่น่าจะช่วยทำให้การดำเนินการเอาผิดทำได้ง่ายกว่ากลไกปกติ

เมื่อเรื่องเรียนที่ได้มาจะถูกนำไปส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ อีกส่วนหนึ่งส่งไปยังสำนักนายกฯ สำนักงานเลขาธิการ คสช. ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ​ รวมทั้งกลไกอำนาจผ่านแม่น้ำทั้ง  5 สาย

ติดแค่เพียงหากการขยับ​ครั้งนี้ ยังไม่อาจสร้างผลงานการปราบทุจริตที่จับต้องได้ แรงกดดันย่อมทวีความรุนแรงย้อนกลับมายัง คสช. เพิ่มมากขึ้น