posttoday

ปฏิรูปการศึกษา เสี่ยงปัญหาพายเรือในอ่าง

12 กรกฎาคม 2560

หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเด็นที่ระบุไว้ เกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาของประเทศที่จะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนที่ 40 ก เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นในประเด็นที่ระบุไว้ เกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาของประเทศที่จะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญก็ถูกนำมาถกเถียงกันในวงกว้าง

ทว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาของชาติในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จก็ยังถูกมองว่าทำได้แค่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะ ซึ่งก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้จะปรากฏเป็นข่าวอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยังจับต้องไม่ได้

ทุกครั้งที่การปฏิรูปการศึกษาถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงความคาดหวังก็มักจะพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีรัฐบาลไหนแก้ได้นั่นก็คือ เรื่องของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับปัจจุบัน การพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ แต่ทั้งสามสิ่ง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาเป็นกุญแจไขไปสู่ปัญหาการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบก็ล้มเหลวมาโดยตลอด

ในรอบหลายปีที่ผ่านมานโยบายการศึกษาเปลี่ยนไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัย เก้าอี้ของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้นจะมาจากพรรคใหญ่เข้าไปนั่งบริหาร แทบทุกครั้งจะมีการประกาศนโยบายกว้างๆ เช่น มุ่งเน้น 3 ด้านเป็นหลัก คือ เรื่องคุณภาพการศึกษา โอกาสทางการศึกษา และผลสัมฤทธิ์โดยการศึกษาในทุกระดับจะสามารถนำสิ่งที่ได้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง แต่เมื่อได้มาบริหารจริงต่างพบปัญหาเดียวกัน นั่นคือจะแก้ปัญหาที่เป็นหัวใจหลักของการศึกษาได้ต้องใช้นโยบายที่ต่อเนื่อง อาจจะนานนับ 10 ปี จึงจะเห็นผลพรรคการเมืองที่เข้ามากำกับกระทรวงนี้ จึงมักเน้นนโยบายที่เห็นผลงานที่จับต้องได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่ รับผิดชอบการศึกษาของชาติอย่าง ศธ.ก็ถูกมองว่าถนัดเพียงแก้ไขปัญหา ที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ เกิดขึ้นรายวัน หรือกระทั่งแก้ตามกระแส แต่ขาดความรับผิดชอบจาก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา ข้อเสนอของ วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ เมื่อปี 2558 เคยเปิดประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาว่า การปฏิรูปนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จหากฝากความหวังไว้กับรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะกรณีอำนาจการบริหารเดิมที่ทิ้งปัญหาหลายเรื่องไว้กับระบบการศึกษา โดยได้เสนอให้เปลี่ยนระบบการรับผิดรับชอบจากการบริหารงานจากกระทรวงมาถึงตัวเด็กที่ผ่านมาต้องผ่านนโยบายรัฐ หน่วยงานกลางไปสู่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จนไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนจะถึงตัวเด็กซึ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลกันมาก โดยต้องทำให้สั้นลงให้ความรับผิดชอบที่ไปถึงตัวนักเรียนโดยตรง

ขณะที่แนวคิดของ วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษายังขาด การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ ศธ.และนักวิชาการด้านการศึกษา จึงเป็นการปฏิรูปเพียงรูปแบบเป็นการปฏิรูปโดยระบบบริหารราชการแบบ แก้กฎหมาย ใช้คำสั่งจากบนลงล่าง เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อย ไม่เกิดแนวคิดใหม่และแรงผลักดัน ที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนอย่างขนานใหญ่ ที่จะช่วยยกระดับการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง

วิทยากร มองว่า ปัญหาการปฏิรูปการศึกษาจะยังวนเวียนอยู่ที่เดิม หากไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบองค์รวมและรู้จักจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เพื่อก่อให้เกิด แกนนำในการเปลี่ยนแปลงที่จะไปผลักดันการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบได้ หรือหามาตรการที่จะจัดการกับประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ในแง่การผลิต ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมและอาชีวศึกษาและในแง่คุณภาพของผู้จบการศึกษาทุกระดับชั้นให้ตรงกับความจำเป็นและต้องการของสังคม

วิทยากร ย้ำว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากยังฝากความหวังไว้กับข้าราชการที่ทำงานแบบตั้งคณะกรรมการจากกลุ่มข้าราชการกันเอง ที่ไม่เริ่มจากการปฏิรูปตัวเองเข้ามาดูแล นอกจากนี้ หากไม่สามารถปฏิรูปครูอาจารย์ โดยการเพิ่มแรงจูงให้ครูดีครูเก่งอยู่ต่อและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาครูที่มีแววและครูรุ่นใหม่อย่างจริงจัง รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ ผ่าตัดคัดครูที่มีคุณภาพต่ำที่ฝึกอบรมใหม่แล้วยังสอนได้ไม่มีประสิทธิภาพออกไป หรือให้โยกย้าย ไปทำธุรการหรือให้เกษียณก่อนกำหนด การปฏิรูปการศึกษาก็อาจจะกลายเป็นปัญหาที่เวียนกลับมาอยู่ที่เดิมเหมือนพายเรือในอ่าง

ขณะที่ ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ตั้งขึ้นตามอำนาจของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรรมการอิสระประชุมร่วมกันมาแล้ว 7 ครั้ง สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกคือ เรื่องกองทุนที่จะเข้ามาช่วยลดความ เหลือมล้ำทางการศึกษาและเป็นหลักประกันเรื่องคุณภาพครูให้แล้วเสร็จใน 1 ปี เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นปมสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา หากแก้เรื่องนี้ไม่ได้เรื่องอื่นๆ ก็เกิดขึ้นยาก ในส่วนของรายละเอียดกรรมการจะจัดทำ ข้อเสนอ ตามลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไปคือ หลังจากกรรมการชุดนี้ทำงานแล้วเสร็จใน 2 ปีตามอายุ กลไกการปฏิรูปการศึกษาที่ออกแบบมาจะถูกรัฐบาลใหม่ นำไปใช้จริง หรือถูกนำไปพับเก็บไว้เช่นเดียวกับแนวทางการปฏิรูปที่เคยดำเนินการเมื่อปี 2542 ที่ถูกคิดกันออกมา ซึ่งแทบจะไม่ถูกนำไปใช้ เรื่องนี้รัฐบาลในปัจจุบันและอนาคตจะต้องคำนึงถึง หากตระหนักร่วมกันว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง n