posttoday

ปฏิรูปคุมสื่อออนไลน์เบ็ดเสร็จ

04 กรกฎาคม 2560

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 144 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 144 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) สำหรับรายงานฉบับดังกล่าวมีข้อเสนอที่สำคัญดังนี้

1.การจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ หากสามารถทำให้การลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือระบุตัวตนได้อย่างถูกต้องแล้ว จะเป็นมาตรการทางจิตวิทยาที่จะช่วยลดปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายได้อย่างมาก

นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนที่จะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน โดยจะเริ่มใช้บังคับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงภายในปี 2560 นั้น ควรปรับเปลี่ยนเป็นการใช้บังคับทั่วประเทศ

2.การเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานของผู้ครอบครองโทรศัพท์มือถือ เป็นวิธีการปฏิบัติอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมหรือที่ผิดกฎหมาย เพราะหากประชาชนมีสิทธิและสามารถตรวจสอบผู้ครอบครองโทรศัพท์มือถือได้อย่างเปิดเผยภายใต้ขอบเขต ยังเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์กล้ากระทำผิดหรือแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม

3.จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ เนื่องจากปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ในความครอบครองของผู้ให้บริการโทรศัพท์ (Operator) และมีลักษณะต่างคนต่างจัดเก็บ เพราะยังไม่มีกฎหมายที่บังคับให้มีหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลเหมือนเช่นกรณีของบัตรเครดิต

ดังนั้น กสทช.ควรจะต้องจัดตั้งศูนย์กลางบริหารข้อมูลโทรศัพท์เป็นของตนเอง โดยมีระบบในการควบคุมและรักษาความปลอดภัยในการใช้งาน และกำหนดให้มีการรายงานผลการใช้งานให้กับผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นได้รับทราบ รวมทั้งจะต้องไม่นำไปเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้โดยใช้เกณฑ์เดียวกับกฎหมายต่างๆ ที่มีข้อบังคับและบทกำหนดโทษไว้

ขณะที่สมาชิก สปท.ได้ทยอยอภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนรายงานฉบับนี้ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบางมาตรการที่ไปกระทบต่อสิทธิมนุษยชน

กษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า ปัญหาของไทยคือไม่มีระบบปฏิบัติการหรือเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัท กูเกิล หรือแอปเปิ้ล ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ลำบากเพราะอำนาจต่อรองของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขา ดังนั้นเราต้องสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชน เพราะถ้าให้หน่วยงานรัฐดำเนินการฝ่ายเดียว มันจะเหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน

"ผมอยากให้ทบทวนทั้งหมด เพราะผมอ่านเอกสารแล้ว ผมจับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องจริงๆ นั้นจะแก้ไขปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างไร" กษิต ระบุ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. อภิปรายว่า การนำมาตรการขึ้นทะเบียนโทรศัพท์มือถือแบบที่ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาบังคับใช้ทั่วประเทศ จะเหมาะสมหรือไม่ เพราะเพียงการให้แสดงบัตรประชาชนก็น่าจะเพียงพอแล้ว จึงคิดว่าหากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศจะขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร

"การตั้งศูนย์กลางคิดว่าเป็นข้อเสนอที่อาจเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะปัจจุบันผู้ให้บริหารได้มีการให้ผู้ใช้ทำการลงทะเบียนและมีการควบคุมผู้ใช้อยู่แล้ว หากให้ กสทช.ตั้งศูนย์ขึ้นมาอีก จะต้องใช้คนและเครื่องมือจำนวนมาก จนทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่" พล.อ.เลิศรัตน์ ท้วงติง

ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือการแสดงตัวตนของผู้ใช้โทรศัพท์ให้เป็นข้อมูลไว้ โดยไม่ได้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะที่จะทำให้บุคคลใดก็ได้เข้ามาตรวจสอบ แต่เป็นการเสนอให้ กสทช.ต้องกำหนดให้มีการลงทะเบียนทั้ง ซิมการ์ดและหมายเลขเครื่องในโทรศัพท์ เพื่อให้มีการควบคุมเท่านั้น