posttoday

มีชัยลุยแก้ไพรมารี ทลายกำแพงสนช.

28 มิถุนายน 2560

หน้าตาของร่าง กฎหมายว่าด้วย กกต.และพรรคการเมือง จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใยิ่ง เมื่อแม่ทัพระดับมีชัยลงมาสู่สนามรบเอง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ไม่น่าเชื่อเพียงแค่การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อเข้าไป หรือ ไพรมารีโหวต จะทำให้การเมืองเกิดความเคลื่อนไหวกันถ้วนหน้า

ความเคลื่อนไหวที่เห็นได้ชัด คือ กรณีพรรคการเมืองทั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต่างยื่นเรื่องคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อขอให้ กรธ.ช่วยทบทวนเนื้อหาร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่ สนช.แก้ไข อย่างน้อยที่สุดก็ควรกลับไปใช้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองเวอร์ชั่นของ กรธ.ไม่ใช่ของ สนช. ซึ่งพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองล่าสุดที่ส่งจดหมายน้อยถึง กรธ. เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“การคัดเลือกผู้สมัครโดยปกติพรรคต้องพิจารณาจากผู้มีความประพฤติที่ดี โดยมีการพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว แต่การให้สิทธิค่อนข้างเด็ดขาดแก่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด อาจเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดกรณีที่สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครจัดตั้งสมาชิกซึ่งสนับสนุนตนเองเพื่อมาลงคะแนนเลือกตนได้ง่าย” ความคิดเห็นของพรรคเพื่อไทย

วิเคราะห์จากท่าทีพรรคการเมืองจะเห็นได้ว่าค่อนข้างสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของ กรธ.มากกว่า
ของ สนช.

ทั้งนี้ เป็นเพราะร่างกฎหมายเวอร์ชั่น กรธ.ในประเด็นเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตไม่ได้มีสภาพบังคับเข้มงวดกับพรรคการเมืองมากนัก เมื่อเทียบกับของ สนช. เช่น การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อทำหน้าที่จัดการไพรมารีโหวต ซึ่ง สนช.กำหนดให้มีทุกเขตเลือกตั้ง แต่ กรธ.กำหนดเพียงแค่ให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเท่านั้น

ขณะที่ กรธ.มีท่าทีที่น่าสนใจจาก “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. โดยตลอดหลายสัปดาห์ ประธาน กรธ.ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญว่าการแก้ไขของ สนช. อาจสร้างปัญหาจนทำให้พรรคการเมืองไม่อาจส่งผู้สมัคร สส.ได้อย่างที่ควรจะเป็น

ทว่าเสียงท้วงติงจากประธาน กรธ.ไม่ได้ทำให้ สนช.ยอมถอย ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของ สนช.มองว่าเมื่อพรรคการเมืองไม่มีความพร้อมก็ไม่ควรจะให้มีการเลือกตั้ง

เท่ากับว่าทั้ง สนช.และ กรธ.ต่างยืนในจุดยืนของตัวเอง ทำให้ต้องนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันในอนาคต

แต่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันครั้งนี้มีความน่าสนใจตรงที่ “มีชัย” ลงมานั่งเป็นกรรมาธิการร่วมทั้งในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองด้วยตัวเอง

การลงมานั่งเป็นกรรมาธิการของมีชัยจะว่าไปแล้วดูผิดวิสัยของระบบงานนิติบัญญัติไปหน่อย กล่าวคือปกติแล้วผู้นำในตำแหน่งสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่ลงมานั่งเป็นกรรมาธิการด้วยตัวเอง เพื่อต้องการปล่อยให้สมาชิกทำหน้าที่อย่างเต็มที่

ก่อนหน้านี้ มีเพียงกรณีของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลงมานั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง

นอกนั้นไม่ค่อยปรากฏว่าระดับผู้นำเข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการในสภาเท่าไหร่นัก จนกระทั่งมาเกิดกรณีของ “มีชัย” ดังนั้นการลงมาจากหิ้งของมีชัยจึงไม่ใช่ความเคลื่อนไหวที่ธรรมดา

เดิมทีมีการวางตัวให้ “มีชัย” ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมาธิการร่วมกันของ กรธ. กกต. และสนช. แต่มีชัยไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าในเมื่อเป็นคนที่ทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมา ก็ควรเข้าไปเป็นกรรมาธิการด้วยตัวเอง เพื่อชี้แจงให้ สนช.เข้าใจ

โดยมีชัยจะขอนั่งในตำแหน่งกรรมาธิการปกติเท่านั้น ไม่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการแต่อย่างใด เพราะจะให้ตัวแทนของ สนช.ทำหน้าที่ประธานดังกล่าวแทน

ที่ผ่านมา สนช.มักจะมองว่า กรธ.เข้าข้างพรรคการเมืองเป็นหลัก หลังจาก กรธ.ไม่ได้กำหนดความเข้มงวดเกี่ยวกับไพรมารีโหวตไว้ในร่างกฎหมายการเมืองของ กรธ. ทำให้ สนช.ต้องเข้ามาแก้ไขเพื่อควบคุมพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเล่นดนตรีคนละเพลงระหว่าง สนช.และ กรธ.

อีกทั้งก่อนหน้านี้ ที่ กรธ.ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย กกต.และพรรคการเมืองฝั่ง สนช.ไม่ค่อยฟังความเห็นจากตัวแทน กรธ.เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะกรณีของร่างกฎหมายพรรคการเมือง จนถึงต้องมีการใช้มติในที่ประชุมมาตัดสินความขัดแย้งหลายครั้ง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลที่มีชัยต้องเข้ามาทำงานนี้ด้วยตนเอง อย่างน้อยมีชัยก็มีหมวกความเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งย่อมทำให้สมาชิก สนช.เกรงใจในความคิดของมีชัยบ้าง

ดังนั้น หน้าตาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.และพรรคการเมือง จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อแม่ทัพระดับมีชัยลงมาสู่สนามรบด้วยตัวเอง