posttoday

รถไฟไทยจีน-ปลดล็อกสปก. ปมร้อนฉุดคสช.

27 มิถุนายน 2560

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ปลดล็อกข้อติดขัดต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าไป​ได้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกข้อติดขัดต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าไป​ได้

ปัญหาอยู่ที่การตัดสินใจเลือกใช้ “อำนาจพิเศษ” มาจัดการปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ แทนที่จะปล่อยให้ทุกอย่างแก้ไขกันไปตามระบบย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีกับโครงการขนาดใหญ่ ภายใต้วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท 

ชัดเจนเมื่อ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ออกมาระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น โดยเห็นว่าควรจะมีการเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาแข่งขันการประมูลเพื่อที่จะให้ไทยได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลกมาใช้ รวมทั้งสร้างความโปร่งใส

ไม่ต่างจากอีกหลายเสียงสะท้อนที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงในหลายประเด็น​ ทั้ง รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างแสดงความเป็นห่วงเรื่องความคุ้มทุนที่สุ่มเสี่ยงกับความเจ๊งได้ง่ายหากประเมินระยะสั้น กับการใช้เงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท 

อีกทั้ง​เส้นทางที่ไปถึงนครราชสีมาเป็นเพียงแค่ปากทาง หากจะไปถึงที่หมายต้องเดินทางต่อไปอีก ซึ่งยังไม่มีระบบเดินทางต่อไปให้กับผู้โดยสาร

คล้ายกับ ​อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ระบุว่า นี่ไม่ใช่แค่มหากาพย์ แต่อาจเป็นโครงการที่ทำให้เกิด “โศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไทย”

เมื่อกลไกที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ช่องทางพิเศษที่นำไปสู่การยกเว้นแนวทางการสร้างธรรมาภิบาลและยังปิดกั้นการเข้าไปมีส่วนร่วม รับรู้ หรือร่วมตรวจสอบรายละเอียดในโครงการ

แม้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจงว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีนแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งมีการร่วมมือกันมาหลายรัฐบาลแล้ว จำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเชื่อมโยงกับประชาคมโลกอื่นๆ อีกด้วย 

ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาความคุ้มทุนไม่อยากมองเฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่จะใช้บริการเท่านั้น เพราะทุกประเทศแรกๆ ขาดทุนทั้งหมด แต่วันนี้เกิดผลประโยชน์ตามมามหาศาล  ส่วนเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการก่อสร้าง วิศวกรของไทยอยู่ร่วมในการวางแผนก่อสร้าง ควบคุมงาน และอื่นๆ ด้วย

“ผมได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันการทุจริตว่าจะต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน”​

แต่คำชี้แจงเหล่านี้ก็ไ​ม่อาจคลี่คลายสลายข้อกังขาต่อการใช้งบประมาณก้อนโตไปกับโครงการนี้ได้เลย​

 ยิ่งหากดึงดันจะเดินหน้าต่อไปยิ่งจะกลายเป็นแรงกดดันย้อนกลับมาสร้างปัญหาใน คสช.ในอนาคต

คล้ายกับกรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดิน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ใน 3 กิจการ ประกอบด้วย 1.การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2.การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ 3.การทำเหมืองแร่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 กิจการที่กำลังจะขออนุญาตใหม่นั้น จะต้องพิจารณาเป็นกรณีและต้องอยู่ในหลักเกณฑ์สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งต้องกำหนดชัดเจนว่าจะนำค่าตอบแทนที่ได้จากการใช้ที่ดินนี้ไปใช้ในการสาธารณประโยชน์ ​

ด้านหนึ่งการปลดล็อกเงื่อนไขให้ 3 กิจการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นั้น ย่อมช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

แต่อีกด้านหนึ่งการปลดล็อก 3 กิจการดังกล่าว ดูจะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะปิโตรเลียมและการทำเหมืองแร่ซึ่งคล้ายจะเอื้อให้นายทุน และอาจเข้าข่ายขัดหลักการของ ส.ป.ก.ที่เน้นให้ความสำคัญกับเกษตรกรมากกว่าภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะกับกิจการเหมืองแร่ที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่าจะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายมากกว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับตอบแทนกลับคืนมาเป็นเม็ดเงิน แต่ต้องแลกมาด้วยความสุ่มเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม   

การเลือกใช้ช่องทางพิเศษอย่างมาตรา 44 ไปเพื่อกาลนี้ จึงกลายเป็นที่เคลือบแคลงไม่ต่างกันว่าทำไมถึงเลือกใช้ช่องทางพิเศษแทนที่จะใช้ตามกลไกปกติ เพื่อให้เกิดการพิจารณาถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้านครบถ้วน และ เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

การใช้อำนาจพิเศษไปกับทั้งสองประเด็นนี้จึงเป็นจุดอ่อนฉุดความเชื่อมั่น คสช.อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง