posttoday

ไพรมารีโหวต ประหารพรรคเล็ก

23 มิถุนายน 2560

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ตามขั้นตอนหลังจาก สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการแก้ไขของ สนช.นั้นขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม

โดยหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว สามารถส่งเรื่องมาให้ประธาน สนช. เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง กกต. กรธ.และ สนช.ต่อไป

ทว่าเวลานี้มีเพียง กกต.เท่านั้นที่แสดงท่าทีออกมาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเวอร์ชั่นที่ สนช.แก้ไขนั้นไม่มีปัญหา จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน แต่ผิดกับ กรธ.ที่ยังคงสงวนท่าทีว่าควรจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันหรือไม่ เพราะมีบางประเด็นที่ กรธ.มีความเห็นแตกต่างกับสนช.อย่างสิ้นเชิง

ประเด็นที่ กรธ.เห็นแย้งกับ สนช. คือการสรรหาผู้สมัคร สส.ของพรรคการเมือง หรือไพรมารีโหวต

เดิมทีเรื่องการทำไพรมารีโหวตนั้น กรธ.กำหนดเพียงแค่ให้เป็นกิจการของพรรคการเมือง โดยไม่ได้กำหนดสภาพบังคับ

แบ่งเป็น 1.กรณีของการสรรหาผู้สมัคร สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา และส่งรายชื่อผู้ที่ผ่านการทำไพรมารีโหวตให้กับคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณา 2.กรณีของการสรรหาผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ กรธ.นั้นกำหนดเพียงแค่ให้พรรคการเมืองคำนึงถึงสัดส่วนผู้สมัครตามภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง

พอมาเป็นไพรมารีโหวตที่ สนช.แก้ไข ปรากฏว่ามีการกำหนดกระบวนการของการทำไพรมารีโหวตไว้อย่างละเอียดและลงลึกในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก เช่น การให้มีตัวแทนพรรคการเมืองในทุกเขตเลือกตั้ง จากเดิมเป็นเพียงตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดเท่านั้น เป็นต้น

เท่ากับว่าพรรคการเมืองใดไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งใด ก็จะไม่อาจส่งผู้สมัคร สส.ลงในเขตเลือกตั้งได้ เพราะร่างกฎหมายกำหนดว่าการส่งผู้สมัคร สส.จะต้องมาจากบุคคลที่ผ่านการทำไพรมารีโหวตเท่านั้น

การที่ สนช.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองออกมามีหน้าตาแบบนี้ ทำให้ กรธ.มองว่าถ้าปล่อยออกไปจะนำมาซึ่งปัญหาในทางปฏิบัติแก่พรรคการเมือง ซึ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ.ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเดิมปกติเวลากำหนดวันเลือกตั้งแล้วจะมีการกำหนดวันรับสมัครภายใน 7-10 วัน หลังจากได้ประกาศวันเลือกตั้ง แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองจะสมัคร สส.ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีการทำไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงทำให้มีปัญหาว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ และพรรคการเมืองจะกลับมาสมัครรับเลือกตั้งทันหรือไม่

“เวลานี้มีคนพยายามอธิบายว่าให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตล่วงหน้าไปก่อนก็ได้ แต่ขอถามว่าถ้าทำแบบนั้นจะเอาเขตเลือกตั้งอะไรมากำหนดการทำไพรมารีโหวต เพราะเขตเลือกตั้งจะประกาศช่วงใกล้เลือกตั้งแบบนี้สมาชิกพรรคการเมืองพร้อมจะไปลงคะแนนหรือไม่” คำเตือนจากประธาน กรธ.

เมื่อดูท่าทีของประธาน กรธ.แล้ว มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อขอแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมาย เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองเป็นฝ่ายที่ต้องรับผลกระทบไปเต็มๆ โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก

พรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือพรรคการเมืองขนาดกลาง ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับในทางปฏิบัติของการทำไพรมารีโหวต เพราะด้วยโครงสร้างของพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างมีฐานสมาชิกพรรคการเมืองครบทุกจังหวัด ทำให้การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อทำหน้าที่จัดการทำไพรมารีโหวต

แต่ผิดกับพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เคยมี สส.ในสภาไม่เกิน 5 คน หรือพรรคการเมืองที่ไม่เคยมี สส.มาก่อน ซึ่งภายใต้กติกาของกฎหมายพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้พรรคการเมืองกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยที่จะได้ สส.เข้าสภามากยิ่งขึ้น

ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กต้องสู้หลายด่านมากกับการเลือกตั้ง สส. เพราะกติกาไม่ได้ช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองขนาดเล็กมากนัก

ไล่มาตั้งแต่ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้คะแนนเลือกตั้ง สส.ระบบเขตคำนวณหาทั้ง สส.เขตและ สส.บัญชีรายชื่อ กลายเป็นว่าพรรคการเมืองเล็กต้องส่ง สส.เขตให้มากที่สุด เพื่อหวังจะได้คะแนนมาช่วยให้ได้เก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบพรรคใหญ่เต็มประตู

ยิ่งต้องมาเจอกับเงื่อนไขของร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวต ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดเล็กสามารถส่งผู้สมัคร สส.ได้ยากขึ้นไปอีก เนื่องจากต้องยอมรับว่าพรรคเล็กไม่ได้มีฐานสมาชิกมากพอที่จะทำไพรมารีโหวตได้

แทนที่พรรคเล็กจะมีโอกาสได้ส่งผู้สมัคร สส.มากขึ้น ก็กลายเป็นว่าไม่มีโอกาส เพราะเจอกับอิทธิฤทธิ์ของกฎหมายพรรคการเมือง

ด้วยสภาพเช่นนี้ อนาคตการเมืองจะผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่พรรค จึงเป็นคำถามว่านี่หรือที่เรียกว่าการปฏิรูปการเมือง