posttoday

สืบทอดอำนาจ 10 ปี ปลุกกระแสขย่มคสช.

21 มิถุนายน 2560

ถึงนานๆ จะออกมาที แต่ทุกครั้งที่ออกมาถือว่าสร้างความสนใจให้กับการเมืองไทยไม่น้อย สำหรับ“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”

โดย....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถึงนานๆ จะออกมาที แต่ทุกครั้งที่ออกมาถือว่าสร้างความสนใจให้กับการเมืองไทยไม่น้อย สำหรับ“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

ล่าสุด ได้อภิปรายวิพากษ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโครงสร้างการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในแบบที่ไม่เคยมีนักวิชาการเคยแสดงความคิดเห็นมาก่อนผ่านการปาฐกถาเรื่อง“การเมืองไทยกับสังคม 4.0” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“รัฐธรรมนูญ 2560 โดยเรื่องการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน และบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง รวมทั้งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี

ปัจจัยที่ทำให้กล้าออกแบบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งที่ดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐนั้นน่าจะอยู่ในนโยบาย 2 ประการ คือ 1.การยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือไทยแลนด์ 4.0 และ 2.นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจด้วยกลไกประชารัฐ

แม้ภายนอกดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่คิดว่านี่เป็นมาสเตอร์แพลนในการช่วงชิงมวลชน และสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก เป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน”สาระสำคัญในสิ่งที่อาจารย์เสกสรรค์อภิปรายเอาไว้

ต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีนับตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะทางวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย มีหลายเวทีที่ต้องล้มไปเพราะหน่วยงานความมั่นคงมองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อความไม่สงบ

มิหนำซ้ำ คสช.ยังมองคนที่ออกมาวิจารณ์ตัวเองด้วยว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ก็เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ คสช.

ไม่เพียงเท่านี้ หากไม่ได้มีการปิดเวทีการอภิปรายวิชาการ หน่วยงานความมั่นคงก็ใช้วิธีเชิญกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.มาปรับทัศนคติ

แม้กระบวนการที่ คสช.เรียกว่า “ปรับทัศนคติ” จะไม่ได้มีลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เพราะเป็นเพียงการมาให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและขอความร่วมมือในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ทำให้บรรยากาศทางการเมืองเต็มไปด้วยความหวาดระแวงพอสมควร

ดังนั้น เมื่อนักวิชาการรุ่นใหญ่และเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในแวดวงวิชาการลุกขึ้นมาชำแหละ คสช.ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมให้กับ คสช.ไม่น้อย

ทั้งนี้ คงมีคำถามว่าเพียงแค่การอภิปรายของอาจารย์เสกสรรค์เพียงคนเดียว จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างไร

จริงอยู่เวลานี้การเมืองถูกรวบอำนาจไว้ในมือของ คสช.แต่เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งการมีอำนาจมาตรา 44 ที่จะชี้ไม้ให้เป็นนกหรือชี้นกให้เป็นไม้ ย่อมทำให้ คสช.ได้เปรียบกว่าทุกฝ่าย แต่ความคิดเห็นที่อาจารย์เสกสรรค์แสดงออกมานั้นเป็นเรื่องที่จี้ใจดำ คสช.อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับการสืบทอดอำนาจรูปแบบใหม่ของ คสช.ที่อาจกินเวลานานไปกว่า 10 ปี ย่อมเป็นจุดกระตุ้นให้กระแสความไม่พอใจต่อ คสช.ที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

ประเด็นเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจเป็นประเด็นที่สร้างความเคลือบแคลงมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

เวลานั้น คสช.ในฐานะพี่ใหญ่ของแม่น้ำ 5 สายส่งข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรตรงที่มา กรธ.เพื่อให้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของ คสช.มากที่สุด

ประเด็นที่ คสช.เสนอและ กรธ.ได้สนองในลักษณะแบบไม่เต็มใจมากนัก คือ การให้มีวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาโดย คสช.ในช่วง 5 ปีแรกภายหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

กลายเป็นรอยด่างรอยหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่าไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะนอกจาก สว.ชุดใหม่จะไม่ได้มาจากประชาชนแล้ว ยังกำหนดให้มี สว.โดยตำแหน่งจำนวน 6 คนด้วย ซึ่งมาจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำเหล่าทัพ

ดังนั้น เมื่อ อาจารย์เสกสรรค์ได้นำประเด็นนี้มาย้ำแก่สังคม ยิ่งทำให้ คสช.ถูกเปลือยหนักมากขึ้นอีกว่ากำลังสืบทอดอำนาจในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การตั้งพรรคการเมืองเหมือนคณะรัฐประหารในอดีต แต่อาศัยความชอบธรรมทางกฎหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2560 คสช.เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบริหารประเทศที่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา การตั้ง 4 คำถามมายังประชาชนเพื่อหยั่งกระแสเลื่อนเลือกตั้ง หรือแม้แต่การใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงที่อาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นับจากนี้ไป คสช.ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านที่จะก่อตัวมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ คสช.จะผ่านด่านนี้ไปได้ง่ายๆ