posttoday

นักการเมืองตั้งแง่ สัญญาประชาคมต้องไม่ผูกมัด

16 มิถุนายน 2560

จะสำเร็จหรือไม่กับการปฏิรูปประเทศให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ยังคงเป็นประเด็นจับตาจากหลายฝ่าย

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

จะสำเร็จหรือไม่กับการปฏิรูปประเทศให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ยังคงเป็นประเด็นจับตาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะแนวคิดของคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดองในการเตรียมจัดทำร่างสัญญาประชาคม ก่อนเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เป้าหมายสูงสุดเรื่องการปฏิรูป คือ ทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เกิดธรรมาภิบาล และรัฐบาลในอนาคตทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้เกิดก่อนการเลือกตั้ง

“ถ้าพูดเรื่องการปรองดองไม่สำคัญไปกว่าการปฏิรูปเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่การปรองดองไม่ใช่กระบวนการให้ทุกฝ่ายมาเกี้ยเซี้ย แล้วกลายเป็นว่าต้องยอมจำนนกับคนทำผิดกฎหมาย และการปรองดองเชื่อว่าฝังลึกอยู่ในใจทุกคน ถ้าเป็นการปรองดองเอาคนดีทั้งประเทศมาร่วมมือกัน ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า คงไม่มีใครปฏิเสธ”

ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจว่าจะให้ใครทำอะไร ทั้งหมดอยู่ที่เนื้อหาข้อตกลงผูกมัดอะไรหรือไม่ สมมติ เช่น ถ้าผูกมัดในอนาคตทุกคนห้ามเคลื่อนไหว และหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีต มีรัฐบาลในอนาคตฉ้อฉล ใช้อำนาจไปโกงกิน หรือล้างผิดให้พรรคพวกตัวเอง เป็นอย่างนี้จะมีกลไกแก้ไขปัญหาอย่างไร ฉะนั้น ควรถกเรื่องเป้าหมายใหญ่ในประเทศให้ชัดเจนก่อนว่าจะทำอย่างไร ถือเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนมากที่สุด

“ถามว่าวันนี้ประเทศปรองดองสงบเรียบร้อยหรือไม่ คำตอบคือใช่ ซึ่งก็ต้องขอบคุณคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถรักษาความสงบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน แต่หากคิดว่าเกรงกลัวหลังการเลือกตั้งจะเกิดความไม่สงบ อยู่ที่ว่า 1.สามารถปฏิรูปสำเร็จหรือไม่ 2.ทุกคนร่วมปฏิรูป เคารพกติกา เคารพหลักประชาธิปไตยหรือไม่”

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวคิดว่าการปรองดองอนาคตเกิดขึ้นได้มี 2 ปัจจัย 1.ปฏิรูปประเทศกติกากับระบบเป็นที่ยอมรับ สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า 2.ประชาชนให้ความร่วมมือกับการปฏิรูป ให้ความเคารพกับกฎกติกากับระบบที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่ ถ้าทุกคนเดินหน้าตรงนี้ ทุกอย่างก็เกิด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลผู้มีอำนาจทำได้ต้องเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ ผู้กระทำความผิดเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้บริสุทธิ์จะมีความรู้สึกได้รับความยุติธรรม มีกำลังใจทำดีให้ประเทศและเกิดปรองดองปริยาย ถ้าเข้าใจว่าการปรองดอง คือ ให้คนดีและคนไม่ดีมาจับมือกันก็ไม่เปิดประโยชน์กับประเทศแน่นอน

ด้าน ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ฉายภาพรวมว่า เรื่องดังกล่าวจริงๆ แล้ว ทาง คสช.หรือกระทรวงกลาโหมคิดว่าอย่างไร การทำร่างสัญญาประชาคมจะทำให้เกิดการปรองดอง ทว่า วันนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องหาให้ได้ก่อนใครคือคู่ขัดแย้ง

“ถ้ากลาโหมคิดว่าคู่ขัดแย้ง คือ พรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง แล้วให้ทุกคนเข้ามาเซ็นกัน ก็เข้าใจว่าอาจจะไม่ทำให้ความขัดแย้งหมดไป แต่มันอาจจะลดลง ด้วยเหตุผลว่าทุกฝ่ายไปลงนามกันนั้น ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงในอดีตเป็นกลุ่มที่เคยมีความขัดแย้งกัน”

ทว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองมีหลายระดับ และปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวย มันก็ถือเป็นความขัดแย้งและจะเอาใครมาเซ็น ดังนั้น การปรองดอง คือ การปรองดอง ความขัดแย้ง คือ ความขัดแย้ง แต่อาจลดลง ถ้าให้จับมือรักกันดีกัน มองว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน

ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การจะบรรลุเป้าหมายปรองดองได้นั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กลุ่มก้อนทางการเมือง รวมถึงประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อทำให้การปรองดองประสบความเร็จ

ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความหวังในเรื่องการปรองดองจะประสบสำเร็จ เพราะมีความพยายามมานาน ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องปรับท่าทีให้เกิดการปรองดอง โดยต้องทำให้แต่ละฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจ ไม่เลือกฝ่ายหรือเลือกปฏิบัติ

“ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความรู้สึกว่ารัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการปรองดอง ความร่วมมือมันก็น้อยตามไปด้วย”