posttoday

ซื้อขายตำแหน่ง สะเทือน คสช.

16 มิถุนายน 2560

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายกับการงัด “ไม้ตาย” เลือกใช้วิธีฟ้องร้องสกัดการขยายผล หลัง วิทยา แก้วภราดัย แกนนำ กปปส. ออกมาจุดประเด็นเรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายกับการงัด “ไม้ตาย” เลือกใช้วิธีฟ้องร้องสกัดการขยายผล​ หลัง วิทยา แก้วภราดัย แกนนำ กปปส. อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาจุดประเด็นเรื่องการซื้อขายตำแหน่งตั้งแต่ระดับสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ วาระประจำปี 2559

รอบแรกจากการออกมาแจกแจงรายละเอียด พบการจ่ายเงินกับการแต่งตั้งระดับผู้กำกับการ​ที่วิ่งเต้นด้วยเงินสูงตั้งแต่ 5-7 ล้านบาท ​ส่วนระดับสารวัตรราคาอยู่ที่ 1-5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท​ ท่ามกลางกระแสข่าว​มีกลุ่มนายตำรวจนับสิบนายที่จ่ายเงินให้แก่ภรรยาลับๆ ของนายตำรวจระดับบังคับบัญชาชั้นสูงเพื่อเป็นค่าผ่านทางในการเลื่อนตำแหน่ง

ส่งผลให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่ง ตร.287/2560 ลงวันที่ 12 มิ.ย. ให้ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการซื้อขายตำแหน่ง

รอบที่สอง วิทยา ออกมาทิ้งระเบิดลูกโต​ว่า การแก้ปัญหายังไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะต้องแก้ปัญหาทั้งโครงสร้างการบริหาร ​และเรื่องการซื้อขายตำแหน่งไม่ใช่แค่ที่นี่ที่เดียว ​ขอให้ ผบ.ตร.ไปดูข้อมูลที่อื่นด้วย โดยเฉพาะในส่วนของตำรวจนครบาลที่บวกไปอีก 2 เท่า ​และเชื่อว่าคนที่รู้ข้อมูลเรื่องนี้ดีที่สุดคือ ผบ.ตร.

ก่อนที่ทุกอย่างบานปลายมากกว่านี้ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการกองกฎหมายและคดี กล่าวว่า หากการออกมาพูดโดยไม่มีข้อเท็จจริง ถือเป็นหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งจะได้พิจารณาว่าจะดำเนินการฟ้องร้องหรือไม่ เพราะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นนิติบุคคล ซึ่งได้รับความเสียหายหากมีการพาดพิงถึงบุคคลในองค์กร

ต้องยอมรับว่าการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงสีกากีไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณี “ไลน์หลุด” เรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ ที่มีการพาดพิง “พล.อ. ป” ​ซึ่ง พล.ร.อ.พะจุณณ์​ ตามประทีป สมาชิก สปท. ออกมาเปิดประเด็น ​

​ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจงัด พ.ร.บ.คอมพ์ ออกมาขู่ จนเรื่องนี้เงียบหายไป​โดยไม่มีความคืบหน้า ไม่มีแม้แต่​ความพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ ตามเป้าหมายการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของ คสช.ที่อาสาเข้ามาแก้ไข

สุดท้าย​ประเด็นเรื่องซื้อขายตำแหน่งวนกลับมาเป็นประเด็นใหม่อีกรอบในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายรอบใหม่ และส่อเค้าจะจบลงแบบไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนเดิม​

สะท้อนผ่านสัญญาณที่ ผบ.ตร.ออกมาการันตีด้วยตัวเองว่า ในพื้นที่ บช.น.ไม่มีการซื้อขายตำแหน่งแน่นอน​​ ทั้งที่่ยังไม่ทันได้เข้าไปตรวจสอบในรายละเอียด

แม้ก่อนหน้านี้ ​พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะออกมาขอบคุณนักการเมืองที่ให้ข้อมูลการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมระบุชัดว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนมาบ่อยครั้ง ครั้งนี้จะจับให้มั่นคั้นให้ตายเสียทีว่ามันใช่หรือไม่ใช่

สรุปสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีได้ชัดเจน คือ หนึ่ง ปัญหาเรื่องนี้มีอยู่จริง สอง ปัญหาเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ต่างจากท่าทีจากบิ๊กตำรวจที่รีบออกมาปฏิเสธตั้งแต่แรก ทำให้กระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหายิ่งเป็นไปได้ยาก

หากจำได้ช่วงต้นปี ​พล.อ.ประยุทธ์​ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ​เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่สุดท้ายผลที่ออกมาชัดเจนว่าไม่อาจแก้ไขการซื้อขายตำแหน่ง

ทั้งหมดย่อมวนกลับมาสร้างปัญหาให้ คสช.อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งในฐานะผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและขันอาสาเข้ามาเดินหน้าจัดการปฏิรูป แต่ผ่านมาสามปี ประเด็นการซื้อขายตำแหน่งยังไม่อาจได้รับการสะสางหรือเห็นความคืบหน้าในทิศทางที่ดีขึ้น

แถมแรงกดดันอาจเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติเมื่อประเด็นนี้ถูกเชื่อมโยงไปถึงคนใกล้ชิดบิ๊ก คสช.

ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.สปพ. ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้ามามีอิทธิพลในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่ง ​พล.ต.อ.จักรทิพย์ ​อธิบายว่า ​ใช้งานให้ไปตรวจสอบข้อมูลในทางลับ ไม่ได้เกี่ยวข้องในการทำบัญชีโยกย้าย​

แม้จะมีความสนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ​แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน โดยทั้งหมดขอให้รอกระบวนการตรวจสอบของจเรตำรวจฯ ที่เชื่อว่า มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และหากจะให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ก็ยินดี

ทั้งหมดล้วนแต่ตอกย้ำว่าการซื้อขายตำแหน่งมีผลสั่นสะเทือน คสช.อย่างรุนแรง