posttoday

4คำถามนายกฯซึม ระแวงเลื่อนเลือกตั้ง

15 มิถุนายน 2560

การเมืองไทยปี 2560 เดินทางมาถึงกลางปีอย่างน่าสนใจ เพราะตลอดครึ่งปีที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างมี 3 เหตุการณ์สำคัญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยปี 2560 เดินทางมาถึงกลางปีอย่างน่าสนใจ เพราะตลอดครึ่งปีที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างมี 3 เหตุการณ์สำคัญที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง

1.การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติตั้งแต่ปี 2559 ปรากฏว่าต้องใช้เกือบปีจนกว่าจะได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดได้ตามกฎหมาย เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญกำหนดเข็มทิศให้ประเทศเดินไปสู่การเลือกตั้งอย่างชัดเจนผ่านการให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ

2.เหตุการณ์ความไม่สงบใน กทม. เป็นอีกปีที่มีผู้ก่อเหตุความไม่สงบหลายครั้ง ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่รอบนอกบริเวณสนามหลวง โชคยังดีที่ไม่เกิดการสูญเสียอย่างรุนแรง

แต่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้นำมาซึ่งเสียงสาปแช่งเป็นอย่างมาก เพราะโรงพยาบาลควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เมื่อมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จึงเป็นการท้าทายอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ไม่น้อย

3.การตั้งคำถามโยนหินถามทางของนายกฯ จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงครบรอบ 3 ปีการบริหารประเทศของ คสช.ได้นำมาซึ่งสัญญาณทางการเมืองที่สำคัญที่ส่งออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.โดยการตั้งคำถามไปยังประชาชนจำนวน 4 ข้อผ่านรายการศาสตร์พระราชา

สำหรับคำถามของนายกฯ ทั้ง 4 ข้อมีดังนี้

ข้อ 1 คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

ข้อ 2 หากไม่ได้จะทำอย่างไร

ข้อ 3 การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่

ข้อ 4 คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไขและแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ภายหลังจากนายกฯ โยนคำถามดังกล่าวออกมา ปรากฏว่าหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยรับไม้ต่อเพื่อไปดำเนินการขยายผลด้วยการเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรก

ทั้งนี้ ต้องยอมรับการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในช่วงแรกไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากประชาชนเท่าไหร่นัก ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งเอาไว้

หากจะหาเหตุผลว่าทำไมคำถามของนายกฯ ไม่ได้รับการตอบรับนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลที่ประชาชนเริ่มตั้งเป็นคำถามกลับไปยัง พล.อ.ประยุทธ์

กล่าวคือ ทุกวันนี้ยังเป็นคำถามคาใจอยู่ว่าการตั้งคำถามดังกล่าวของนายกฯ มีวัตถุประสงค์ไปเพื่ออะไร แม้นายกฯ จะย้ำมาก่อนหน้านี้ว่าการตั้งคำถามเช่นนั้นไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่ารัฐบาลจะเอาคำตอบที่ได้จากประชาชนไปทำอะไรให้เกิดเป็นรูปธรรม

จึงกลายเป็นว่าเหตุผลหนึ่งที่ประชาชนยังไม่เข้าไปตอบคำถามของนายกฯ นั้นอาจมาจากความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล โดยเฉพาะกลัวว่าหากตอบคำถามไปแล้วจะเป็นต้นเหตุให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

จริงอยู่แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้แล้วและย่อมไม่อาจทำให้โรดแมปและการเลื่อนเลือกตั้งถูกเตะออกไปไกลได้มากนัก แต่ต้องไม่ลืม พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจมาตรา 44 อยู่ เสมือนหนึ่งเป็นยาสามัญประจำ คสช. ที่ใช้แก้ไขปัญหาอะไรก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่การเลื่อนเลือกตั้ง

หนำซ้ำเมื่อไปดูรูปแบบของการให้ประชาชนมาตอบคำถาม ปรากฏว่า มีการกำหนดให้ประชาชนผู้มาตอบคำถามต้องใส่ชื่อและนามสกุลพร้อมหมายเลขบัตรประชาชนไปในเอกสารคำตอบด้วย

การดำเนินการเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องไม่ได้รับการตอบรับ เพราะส่วนหนึ่งกังวลว่าตนเองจะมีเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นได้ในระดับใด หากคำตอบที่ให้กับ คสช.ไปนั้นไม่เป็นผลบวกแก่ คสช.

ดังนั้น กิจกรรมการให้ประชาชนมาตอบคำถามของนายกฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ นอกจากจะเป็นการตอบคำถามนายกฯ แล้วยังเป็นการสะท้อนความนิยมที่ประชาชนมีให้กับรัฐบาลด้วย