posttoday

ดิ้นเฮือกสุดท้าย ล้มเซตซีโร่กกต.

13 มิถุนายน 2560

คงเป็นไปได้ยากที่ กกต.จะไม่ถูกเซตซีโร่ เมื่อหลายฝ่ายต่างเปิดหน้าจองกฐิน กกต.เช่นนี้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยว่าด้วย “เซตซีโร่”เป็นประเด็นมาตั้งแต่เมื่อครั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้ามายึดอำนาจใหม่ๆ หรือระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก

เวลานั้นมีการวิเคราะห์กันว่าหวยน่าจะไปออกที่พรรคการเมือง เพราะบิ๊กๆ คสช.หลายคนโดยเฉพาะด้านกฎหมายต่างออกมาส่งสัญญาณตรงกันว่าควรมีการเซตซีโร่พรรคการเมืองก่อนมีการเลือกตั้งเพื่อให้ความเท่าเทียมกันทุกพรรค และไม่ให้การเมืองเกิดการผูกขาดในอำนาจอยู่ไม่กี่พรรค

ทันทีที่สัญญาณดังกล่าวถูกส่งออกมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองต่างออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกันอย่างถ้วนหน้า เพราะเป็นการทำลายพรรคการเมืองเพื่อไม่ให้เป็นสถาบันทางการเมือง สุดท้ายเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป

กระทั่งคำว่าเซตซีโร่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง แต่พรรคการเมืองกลับไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเป้าหมายไปอยู่ที่องค์กรอิสระ ภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้การคงอยู่ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไปผูกไว้ที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550ที่รับรองให้ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย

ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่ กรธ.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยในเรื่องการดำรงตำแหน่งของ กกต.นั้น กรธ.กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่่ชี้ขาดว่า กกต.ในปัจจุบันคนใดบ้างที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ

สัญญาณเซตซีโร่ กกต.จึงเริ่มปรากฏนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา และมาเกิดความชัดเจนมากขึ้นภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตบโต๊ะให้ กกต.ทั้ง 5 คนพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เพียงแต่ยังให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ 7 คนมาทำหน้าที่ ตามมาด้วยมติของที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.เห็นด้วยกับสิ่งที่คณะ กมธ.วิสามัญฯ แก้ไข

ทุกอย่างยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า กกต. คือองค์กรอิสระแรกโดนเซตซีโร่ เหลือเพียงรอเวลาให้ร่างกฎหมายที่ผ่าน สนช.มีผลบังคับใช้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนแม้กฎหมายจะผ่าน สนช.แล้ว แต่ขั้นตอนยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 267 กำหนดให้ต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ให้กับ กรธ.และ กกต.ด้วย เพื่อพิจารณาว่าร่างกฎหมายที่ผ่าน สนช. โดยมีการแก้ไขนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่

แน่นอนว่า กกต.ย่อมต้องไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ สนช.แก้ไข และต้องการให้มีการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง กรธ. สนช. และ กกต.เพื่อให้ทบทวนเนื้อหาดังกล่าวโดยเฉพาะการเซตซีโร่ กกต. เพราะเป็นหนทางที่เหลืออยู่ไม่กี่ทางที่ กกต.จะดิ้นรนให้รอดการถูกเซตซีโร่ไปได้

แต่ทว่ามองในเชิงความเป็นไปได้ที่ กกต.จะไม่ถูกเซตซีโร่แล้วต้องยอมรับมีความเป็นไปได้ยากพอสมควร ทั้งด้วยเหตุผลในแง่ของกฎหมายและการเมือง

ในแง่ของกฎหมาย พลิกไปดูว่าเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นได้ว่า กกต.ต้องสู้เหนื่อยถึงสองรอบ รอบแรกต้องโน้มน้าวให้คณะ กมธ.วิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายให้แก้ไขเนื้อหาเพื่อยกเลิกการเซตซีโร่ จากนั้นรอบที่สองไปสู้ในสภาอีกครั้งเพื่อให้ สนช.เห็นด้วยกับสิ่งที่คณะ กมธ.วิสามัญฯ แก้ไข

เห็นแบบนี้แล้ว แทบเรียกได้ว่า กกต.ม้วนเสื่อกลับบ้านตั้งแต่รอบแรก เพราะต้องไม่ลืมว่าทั้ง กรธ.และ สนช.ต่างประสานเสียงร้องเพลงเดียวกัน คือ เซตซีโร่ กกต.

ขณะที่ในแง่ของการเมือง ภายใน สนช.มีการกระจายข้อมูลข่าวสารว่า กกต.ชุดนี้กำลังใกล้จะสิ้นสภาพอยู่แล้ว เนื่องจากจะมี กกต.ถึง 4 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ประกอบด้วย 1.จะมี กกต. 2 คนที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.จะมี กกต.1 คนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลในคดีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ อันมีผลให้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และ 3.กกต.อีก 1 คนจะมีอายุครบ 70 ปี ในกลางปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้กับการเลือกตั้ง

เท่ากับว่าสภาพเช่นนี้จะเหลือเพียงประธาน กกต.เพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดคำถามว่าจะดำรงสภาพการเป็น กกต.ได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของ สนช.ที่ต่างพร้อมใจในการลงมติเซตซีโร่ กกต.ทั้ง 5 คนเพื่อสลายปัญหาทั้งหมด และเพื่อให้ง่ายต่อการสรรหา กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน

ด้วยเหตุผลเหล่านี้หนทางสู้ของ กกต.เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปค่อนข้างริบหรี่พอสมควร เพราะถูกแม่น้ำ 2 สายอย่าง “กรธ.-สนช.” จับมือเพื่อเซตซีโร่ กกต. อีกทั้งพี่ใหญ่อย่าง คสช.ก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย ยิ่งส่งผลให้ กกต.ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบากมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น หนทางเดียวที่เหลืออยู่ของ กกต.คงหนีไม่พ้นการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด แต่ก็ยังเป็นหนทางที่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจอยู่ดี

ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจของสมาชิก สนช.ในการรวบรวมรายชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ สนช.มีมติให้เซตซีโร่ ก็คงเป็นช่องทางที่ กกต.จะเดินไปให้บรรลุผลได้ลำบากไม่ต่างกัน

ที่สุดแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่ กกต.จะไม่ถูกเซตซีโร่ เมื่อหลายฝ่ายต่างเปิดหน้าจองกฐิน กกต.เช่นนี้