posttoday

กกต.กาง 3 สูตร ลุ้น‘คุณสมบัติ’จัดเลือกตั้ง

02 มิถุนายน 2560

กกต. จัดเสวนา เรื่อง “เดินหน้าเลือกตั้งกับ กกต.” “การเลือกตั้งโดยพลเมืองคุณภาพ” ตลอดทั้งทิศทางการทำงานร่วมกันของสำนักงาน กตต. และสื่อมวลชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดงาน กกต.พบสื่อมวลชน พร้อมจัดเสวนา เรื่อง “เดินหน้าเลือกตั้งกับ กกต.” “การเลือกตั้งโดยพลเมืองคุณภาพ” ตลอดทั้งทิศทางการทำงานร่วมกันของสำนักงาน กตต. และสื่อมวลชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ณ โรงแรมธารามันตรา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

สมชัย ศรีสุทธิยากร ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ฉายภาพว่า จากนี้ไปในอนาคตแบ่งออกเป็น 3 ภาพ ภาพที่ 1 เลวร้ายที่สุด ในวันที่ 9 มิ.ย. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนตามร่างกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หากคุณสมบัติ กกต.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดังนั้น เมื่อกฎหมายประกาศออกมาในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือน มิ.ย. อีก 15 วัน ต้องตั้งกรรมการสรรหาและอีก 15 วัน จากนี้ กกต.ยื่นเอกสารให้กรรมการสรรหาพิจารณาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประมาณวันที่ 15 ก.ค. ประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วมจะไปคนที่หนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องยื่นหลักฐาน เพราะเคยดำรงผู้ตรวจการแผ่นดินและพ้นการเมืองไม่ถึง 10 ปี ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนแล้ว

ส่วนตัวได้เตรียมหลักฐานการทำงานภาคประชาสังคมไว้ 21 ปี 9 เดือน หากกรรมการสรรหาไม่รับฟังก็จะพ้นจากตำแหน่งทันทีในวันรุ่งขึ้น จากนั้น กกต.จะเหลือ 3 คน และในเดือน ก.ค. 2561 บุญส่ง น้อยโสภณ กกต.รับผิดชอบด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย หมดวาระ เนื่องจากอายุครบ 70 ปี

ทั้งนี้ หากเดือน ก.พ. 2562 ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. หมดวาระลงเช่นกัน ก็จะเหลือ ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เพียงคนเดียว หากมีอุบัติเหตุและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังเดือน ก.พ. 2562 การเลือกตั้งจะอยู่ในมือ กกต. ใหม่ทั้ง 7 คน

ส่วนภาพที่ 2 คือ ดีที่สุด หากวันที่ 9 มิ.ย. สนช.ยึดคุณสมบัติ กกต.ตามรัฐธรรมนูญเดิม โดยให้อยู่ต่อจนครบวาระก็ทำงานไป 3 ปีครึ่ง และภาพที่ 3 ที่เป็นไปได้ โดยส่วนตัวประเมินแต่อาจจะผิด เชื่อว่า สนช.น่าจะยึดหลักให้ กกต.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เพราะถ้าใช้หลักการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบกับองค์กรอิสระอื่น ความเสียหายที่เกิดกับขึ้น กกต.จะไม่เท่ากับองค์กรอื่น

“เพราะ กกต.จะเหลือ 3 คน แต่ ป.ป.ช.จาก 9 คน เหลือ 1 คน จะทำให้คดีขาดอายุความ สร้างความเสียหายกับประเทศ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะหายไป 4-5 คน และจะมีผู้ครบวาระอีก ทำให้เหลือเพียง 1 คน ดังนั้นจะทำให้เกิดสภาวะเดดล็อกขององค์กรอิสระ ไม่ใช่ กกต.องค์กรเดียวเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่า สนช.จะออกมาในแนวทางให้อยู่ครบวาระ แต่ กกต.ไม่สนใจว่าจะอยู่สถานการณ์ไหน จะทำงานต่อเนื่องจนนาทีสุดท้ายเพื่อเตรียมการเลือกตั้งให้ดีที่สุด”

ขณะที่ บุญส่ง กล่าวว่า หากดูตามรัฐธรรมนูญใหม่ อำนาจ กกต.มีเพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง นอกเหนือจากอำนาจในการสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) อำนาจในการถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ใบแดง) กกต.ยังมีอำนาจใหม่ คือ ใบส้ม ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ 1.หากพบว่าผู้สมัครหรือผู้รู้เห็นเป็นใจกับผู้สมัคร กระทำการทุจริตเลือกตั้ง กกต.สามารถเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 1 ปี

และ 2.กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ได้คะแนนน้อยกว่าโหวตโน กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยที่ผู้สมัครรายเดิมไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก นอกจากนี้ กกต.ยังมีอำนาจเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต (ใบดำ) กับผู้ที่ทุจริตอีกด้วย

สำหรับอำนาจ กกต.ในการสืบสวนสอบสวน กกต. หรือผู้รับมอบอำนาจจาก กกต.มีอำนาจเป็นเจ้าพนักงานปกครอง พนักงานสอบสวน ซึ่งเปรียบเสมือนตำรวจทุกอย่าง กกต.มีอำนาจสืบสวน มีอำนาจจัดตั้งงบประมาณในการหาข่าวให้รางวัลนำ จับแก่ผู้ชี้เบาะแส คุ้มครองพยานและกันบุคคลไว้เป็นพยาน และมีอำนาจส่งสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดี โดยไม่ต้องผ่านพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ

จากนั้นเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามโดยเฉพาะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งได้รัฐบาลมีธรรมาภิบาลตามคำถาม 4 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี โดย สมชัย ระบุว่า ประชาชนเป็นผู้ตอบคำถามนี้ ส่วนตัวไม่อยากให้ตื่นเต้นกับคำถาม เพราะนายกฯ เพียงแค่ต้องการให้ประชาชนฉุกคิด ถ้าฉุกคิดแล้วในการเลือกตั้งท้ายที่สุดแล้วจะได้คนดี ได้พรรคดีมาบริหารบ้านเมือง

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง ส่วนตัวมีความกังวลเรื่องของการมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทน กกต.จังหวัด เนื่องจากคุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ และการมาต้องมีการรับสมัครในจังหวัด และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในทุกจังหวัด ทำให้ไม่อาจชินพื้นที่จนกลายเป็นปัญหา ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาการทำหน้าที่ กกต.ส่วนกลางก็เตรียมสนับสนุนเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

นอกจากนี้ ข้อถกเถียงเรื่องของกรอบ 150 วัน ซึ่งยังคงเห็นต่างกับ กรธ.ที่จะนับรวมผลการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ยังคงต้องรอกฤษฎีกา ก่อนว่าจะมีการตอบมาในลักษณะใด แต่ กกต.มองว่า การมีเวลาเยอะก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้ทำงานสบาย แต่ก็ต้องดูเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย เพราะอาจมีคนร้องว่า กกต.จัดเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ หากศาลชี้ว่าขัดก็เป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะโมฆะ งบการเลือกตั้งเสียเปล่า และ กกต.ต้องรับผิดชอบ