posttoday

จุดอ่อนประชารัฐ ข้าราชการละเลยหน้าที่

01 มิถุนายน 2560

คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เสนอรายงานผลการศึกษาเรื่อง “กลไกการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินแบบประชารัฐ” ต่อที่ประชุม สนช. 1มิ.ย.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมายเหตุ : คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอรายงานผลการศึกษาเรื่อง “กลไกการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินแบบประชารัฐ” ต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 1 มิ.ย.โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 มิติ

1.มิติองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแล

องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลขาดความเป็นอิสระ และขาดอำนาจในการแก้ไข ปัญหาที่พบ เช่น บริษัทที่เข้ามาดำเนินการนั้นเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจ้างจาก ก.พ.ร. จึงต้องดำเนินการตามความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ คือ ใช้การประเมินผลด้วยการจัดอันดับมากกว่าการประเมินด้วยการสอบทาน เพื่อให้การกำกับดูแลก่อให้เกิดประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาได้และส่งผลไปถึงผลลัพธ์ของการปฏิบัติราชการอย่างชัดเจน

2.มิติหน่วยงานที่ถูกกำกับดูแล

พบว่าหน่วยงานที่ถูกกำกับดูแลมีการเปิดเผยข้อมูลน้อย แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 รองรับอยู่แล้ว โดยมีสาเหตุหลายประการเช่นความไม่ชัดเจนของการจัดแบ่งระดับชุดข้อมูล ระหว่างชุดข้อมูลที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ และชุดข้อมูลด้านความมั่นคงที่มีต้องแบ่งระดับชั้นความลับ

ดังนั้น ต้องปรับกระบวนการคิดของหน่วยงานภาครัฐ ให้ยอมรับการตรวจสอบและประเมินผล และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารทางราชการอย่างจริงจัง เพื่อให้หน่วยงานตระหนักถึงหน้าที่การเปิดเผยข้อมูล

3.มิติระบบข้อมูลข่าวสารในการบริหารราชการแผ่นดิน

ไม่มีฐานข้อมูลการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นส่วนรวม ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานต่างมีฐานข้อมูลของตนเอง ซึ่งไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้

วิธีแก้ไข คือ สร้างระบบฐานข้อมูลกลางในการกำกับดูแล และสร้างช่องทางการรับข้อมูลจากประชาชนที่เหมาะสมสำหรับประชาชน และบังคับใช้กฎหมายด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างจริงจัง และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในการรายงานข้อมูลงานที่อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของตนลงในระบบฐานข้อมูลกลาง

4.มิติการสื่อสารและการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ

ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินน้อยมาก เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้น้อย รวมทั้งขาดระบบการให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ไม่มีกลไกช่องทางและระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนได้ติดตามและตรวจสอบการกำกับดูแลอย่างเพียงพอในแบบประชารัฐ

ทั้งนี้ ควรสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ต้องปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิม และเสนอกฎหมายใหม่ เช่น กฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส เป็นต้น