posttoday

ผนึกกำลัง 4 พรรคใหญ่สู้ ‘ทหาร’ ข้อเสนอที่เป็นไปได้ยาก

31 พฤษภาคม 2560

สูตรผนึกกำลัง 4 พรรคการเมืองใหญ่จับมือสู้ศึกเลือกตั้งคานอำนาจ “ทหาร” ถูกโยนออกมาแบบถูกที่ถูกเวลา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สูตรผนึกกำลัง 4 พรรคการเมืองใหญ่จับมือสู้ศึกเลือกตั้งคานอำนาจ “ทหาร” ถูกโยนออกมาแบบถูกที่ถูกเวลา

เมื่อ พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในวัย 91 ปี ออกมาระบุว่าทางเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อสู้กับพรรคทหาร เพื่อรักษาประชาธิปไตยได้ คือ 4 พรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จะต้องสงบศึก ผนึกกำลังกัน เพื่อต่อสู้พรรคทหาร

ทั้งนี้ จะตกลงกันก่อนเลือกตั้ง ว่าระหว่างหาเสียงจะไม่โจมตีสาดโคลนกัน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ได้พรรคที่มี สส.มากที่สุด พรรคที่เหลือต้องสนับสนุนให้พรรคที่ชนะเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาล

ที่มาที่ไปของข้อเสนอดังกล่าวน่าจะมาจาก “สัญญาณ” ที่สะท้อนความพยายามของทหารที่อาจต้องการจะอยู่ในอำนาจต่อไป ​​

เริ่มตั้งแต่ ​พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาโยน 4 คำถามให้ประชาชนช่วยกันคิดหาคำตอบประมาณว่าเลือกตั้งแล้วยังไม่ตอบโจทย์ปฏิรูปจะทำอย่างไร จนถูกตีความว่าเป็นการโยนหินวัดกระแสสังคมหากจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากโรดแมปเดิมแบบไม่มีกำหนด

“ผมไม่เคยพูดสักคำว่าจะไม่เลือกตั้ง แล้วนักการเมืองตีความอย่างนั้นทำไม หลายคนที่ออกมาพูดวันนี้สร้างความเสียหาย วันหน้าถ้าเกิดปัญหาขึ้นอีกจะเรียกใคร ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร แล้วบอกทหารไม่ต้องรัฐประหารซึ่งไม่มีใครอยากจะทำอยู่แล้ว ถ้าพวกคุณไม่สร้างความเสียหายไว้”

สอดรับไปกับสถานการณ์ความไม่สงบที่กลับมาปะทุอีกรอบในช่วงครบรอบ 3 ปี คสช. ท่ามกลางข้อกังขาว่า อาจเป็นแผนสร้างความปั่นป่วนเพื่อเป็นเงื่อนไขนำมาสู่การเลื่อนการเลือกตั้ง

แม้แต่ผลสำรวจความคิดเห็นจากกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ถามว่า ​“หากวันนี้มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านจะออกเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่” พบว่า ส่วนใหญ่​ 52.8% ระบุว่า สนับสนุน​ แม้จะลดลงจากเมื่อเดือน ม.ค.​ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมากกว่ากลุ่มที่ไม่สนับสนุน ซึ่งมี 25.6% และ 21.6% งดออกเสียง

นำมาสู่การรีบออกมาเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตบเท้าเรียกร้องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดมั่นเดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้ 

ต่อเนื่องด้วยข้อเสนอของ พิชัย ที่ปลุกกระแสผนึกกำลังของนักการเมืองสู้ทหาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

ประการแรก​ ​จุดยืนและท่าทีของพรรคการเมืองที่แตกต่างกันชัดเจนโดยเฉพาะ​ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ที่ไม่เคยลงรอยหรือคิดอ่านไปทางเดียวกันมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด นโยบาย ตลอดจนวิธีการบริหาร การจับมือกันบริหารประเทศจึงอาจสร้างความวุ่นวายมากกว่า​แยกกันเดิน

ล่าสุด ​อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุชัดเจนว่า พรรคการเมืองจะจับมือก็ได้ก็ต่อเมื่อมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน จะบอกว่า ให้ 4 พรรคจับมือกันโดยไม่ดูเลยว่าอุดมการณ์และนโยบายของแต่ละพรรคจะเป็นไปได้อย่างไร

ประการที่สอง ระบบเลือกตั้งใหม่ที่คาดว่าจะเป็นกลไกนำไปสู่สภาพเบี้ยหัวแตกไม่น่าจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การรวมพลังย่อมทำให้เกิดเอกภาพได้ยากในทางปฏิบัติ ยิ่งในช่วงที่ต้องการรวมเสียงเพื่อลงมติในเรื่องสำคัญ จนอาจเกิดสภาพการต่อรองสูงจนสร้างปัญหากระทบเสถียรภาพ

แถมด้วยเงื่อนไขสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เปิดให้ สว.250 คน เข้ามามีส่วนเรื่องนายกรัฐมนตรีด้วยแล้วย่อมทำให้เสียงที่ดูจะเป็นเอกภาพกลุ่มนี้เป็นตัวกำหนดทิศทางการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลได้ง่าย

เพียงแค่รวมเสียงเพิ่มจาก สส.126 จาก 500 เสียง ก็จะได้เสียงข้างมากของ สส.และ สว.750 คน สามารถชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี​แบบไม่ต้องออกแรงมากนัก

ประการที่สาม ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ยังอึมครึมไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่หน้าตาจะออกมาอย่างไร และจะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน การเกาะขั้วอำนาจอย่าง คสช.ที่มีช่องทางการผ่องถ่ายอำนาจของ คสช.​ไปยัง​กลไกอื่น หลังการเลือกตั้ง อาจเป็น ทางเลือกที่ดีกว่าการไปผนึกกำลังกันเองระหว่างพรรคการเมือง

ยิ่งในระบบเลือกตั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการตั้งพรรค “นอมินี” ของทหารเข้ามาลงสนามแข่งกับพรรคการเมืองปกติหรือไม่ แถมยังเห็นการจัดกำลังลง พื้นที่​ปูพรมดูแลความสงบที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วยแล้ว ยิ่งทำให้พรรคการเมืองต้องคิดหนักกับการเลือกพันธมิตรทาง การเมือง

อีกทั้งในยุคที่นักการเมืองถูกมองว่าเป็นจำเลยสร้างปัญหาที่หมักหมมยาวนาน ​การผนึกกำลังของ 4 พรรคการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย​ในบริบทการเมืองเช่นนี้ ​

แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในช่วงใกล้เลือกตั้งว่า คสช.จะยังรักษาคะแนนนิยมความเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหนอันจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดพันธมิตรทางการเมือง​ในเวลานั้น