posttoday

ความรุนแรงระลอกใหม่ จุดเปราะบางชายแดนใต้

12 พฤษภาคม 2560

นโยบายแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกท้าทายจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นโยบายแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกท้าทาย จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นมา ซึ่งเกิดเหตุไปแล้วกว่าร้อยเหตุการณ์

ไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์​​​ยิงถล่มโรงพักระแงะ จ.นราธิวาส การวินาศกรรมเสาไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด แบบปูพรม เมื่อต้นเดือน เม.ย. จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุด ระเบิดบิ๊กซี ปัตตานี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยังถือเป็นการท้าทายนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐ ซึ่งกำลังดำเนินการ 3 โครงการ

1.​โครงการพาคนกลับบ้าน ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างกลับคืนสู่ภูมิลำเนามาอยู่ร่วมกับครอบครัว และเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีด้วยการอำนวยความยุติธรรม 2.โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่สร้างต้นแบบพื้นที่​ที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นความหวังในการสร้างโอกาสประกอบอาชีพ

และ 3.นโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้ กำลังดำเนินการในกระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง ซึ่งการพบปะกันครั้งล่าสุดที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มมาราปาตานีซึ่งตัวแทนของผู้เห็นต่างได้เห็นชอบกับหลักการ

อีกทั้งได้นัดหมายที่จะมีการพบปะกันครั้งต่อไปเพื่อหารือกันในรายละเอียดเรื่องของพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัยว่ามีพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากเหตุรุนแรง

ระหว่างที่นโยบายทั้ง 3 ด้านกำลังดำเนินการไปนั้น ฝ่ายคู่ขัดแย้งหลักกับรัฐบาลไทย คือ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง​ คือ ภายหลังการเสียชีวิตของ สะแปอิง บาซอ ผู้นำของขบวนการบีอาร์เอ็น อับดุลเลาะห์ แวมะนอ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน

ต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นมีส่วนร่วมกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขมาตั้งแต่แรก โดย อาแซ ตอยิบ หนึ่งในแกนนำ ในสภาองค์กรนำหรือดีพีพี ของบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้ากลุ่มผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556

แต่หลังการรัฐประหาร 2557 กระบวนการพูดคุยได้ชะงักงันไปนาน จนกระทั่ง อาแซ ตอยิบ ขอถอนตัว แม้กลุ่มผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนเดิม กลุ่มเดิม แต่กลับไม่มีตัวแทนจากคู่ขัดแย้งหลักอย่างบีอาร์เอ็น

อีกด้านหนึ่งโฆษกบีอาร์เอ็นออกมาเปิดเผยกับสื่อตะวันตก ถึงเจตจำนงการเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย ด้วยเงื่อนไขที่จะต้องร่วมกันวางข้อตกลงกติกาเสียใหม่ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

ทว่า ทางฝั่งรัฐไทยถือว่ากลุ่มมาราปาตานี ที่ร่วมพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นตัวแทนผู้เห็นต่างแล้ว จึงเพิกเฉยต่อข้อเสนอของบีอาร์เอ็น

หลังจากนั้นไม่นานความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งเงียบหายไปนาน ก็กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้

จุดที่น่าสังเกต คือ เป้าหมายของความรุนแรง จากเดิมที่เป้าหมายของการก่อเหตุความรุนแรงจะพุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ครั้งล่าสุดนี้กลับเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

ประเด็นนี้หลายฝ่ายคาดว่า​อาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันเพื่อให้รัฐไทยทบทวนท่าทีต่อข้อเสนอของบีอาร์เอ็น

สถานะของรัฐไทยเวลานี้ถือว่าได้เปรียบทางการเมือง จากนโยบายการแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ จนทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งขบวนการในพื้นที่ก็ถูกกัดกร่อนจากนโยบายการปราบปราม

จุดที่ต้องระมัดระวังคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจเป็นความพยายามสร้าง “ความกลัว” มากดมวลชนที่เริ่มเอนเอียง เชื่อมั่นในฝ่ายรัฐไทยมากขึ้น ให้กลับมาเกรงกลัวต่อขบวนการบีอาร์เอ็นอีกครั้ง

หากย้อนไปดูการดำเนินการจากนโยบายพาคนกลับบ้านนั้นมีผู้ที่เคยร่วมกับขบวนการบีอาร์เอ็น เข้ารายงานตัวกับฝ่ายรัฐเพิ่มมากขึ้น คู่ขนานไปกับ​นโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มเห็นการลงทุนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

จนอาจกล่าวได้ว่ามาตรการการพัฒนาของรัฐกำลังเริ่มได้ผล สะท้อนได้จากการลดกำลังทหารจากกองทัพภาคต่างๆ ลง และใช้กองกำลังในพื้นที่เข้าควบคุมแทน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา

สถานการณ์ในปัจจุบันจึงน่าจับตาว่ารัฐจะยืนระยะความเยือกเย็นที่จะใช้มาตรการการพัฒนา หรือนโยบายทางการเมือง มากกว่าการปราบปรามด้วยวิธีการทางทหารต่อไปได้หรือไม่

เพราะบทเรียนการปราบปรามที่ผ่านมานั้น เห็นได้ชัดเจนว่าสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ความรุนแรงนั้นก็ส่อแววที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ ที่จะเข้าสู่ช่วงของการถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน ซึ่งสถิติความรุนแรงช่วง 13 ปีที่ผ่านมาพบว่า รอมฎอนถือเป็นช่วงที่เกิดเหตุความรุนแรงสูงสุด

ความรุนแรงระลอกใหม่จึงถือเป็นความท้าทายที่รัฐบาลจะต้องระมัดระวัง