posttoday

การเมืองเปลี่ยน สูตรทำลายปชต.ไม่เปลี่ยน

12 พฤษภาคม 2560

"ปัจจุบันพบว่าโจทย์การเปลี่ยนแปลงการเมืองของสังคมไทยยังเหมือนเดิม การทำลายประชาธิปไตยก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งสามารถทำความเข้าใจประวัติ ศาสตร์การเมืองผ่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นอย่างดี"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานรำลึกผู้ประศาสน์การ “ปรีดี พนมยงค์” โดยมีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย” ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา

ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันพบว่าโจทย์การเปลี่ยนแปลงการเมืองของสังคมไทยยังเหมือนเดิม การทำลายประชาธิปไตยก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งสามารถทำความเข้าใจประวัติ ศาสตร์การเมืองผ่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ปรีดีมักถูกโจมตีใน 5 เรื่อง อาทิ 1.มักใหญ่ใฝ่สูง 2.ชิงสุกก่อนห่าม 3.เป็นคอมมิวนิสต์ 4.ตัดหน้าเอาเครดิตเรื่องรัฐธรรมนูญ และ 5.ฆ่าในหลวง ร.8 ซึ่งข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ยังมาพร้อมๆ กับความพยายามฟื้นฟูอิทธิพลของเจ้าขุนมูลนายด้วย ขณะที่การทำลายพลังประชาธิปไตยก็ยังเป็นแท็กติกเดิมๆ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งสภาพทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็นการเมืองมวลชน จึงใช้มวลชนบั่นทอนทำลายรัฐบาล และเชื่อว่าแท็กติกนี้จะถูกใช้ต่อไป

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อาจารย์ปรีดีเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุว่า จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ เมื่อมองย้อนกลับไปข้อความนี้สำคัญมาก หมายถึงเมื่อชนะแล้วต้องพิทักษ์ไว้ เพราะคณะราษฎรชนะแต่เขี่ยลูกไปให้พระยามโนปกรณ์มาเป็นนายกฯ  ส่วนเจตนารมณ์คือความมุ่งมั่นในความปรารถนาประชาธิปไตยมันอยู่กับเรา วันหนึ่งเราจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย ตราบใดที่ยังมีความพยายามรื้อฟื้นระบอบเจ้าขุนมูลนาย ตราบนั้น ปรีดี พนมยงค์ ก็จะยังมีความหมายกับสังคมไทย” 

ขณะที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะในวันที่ 27 มิ.ย. 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ปรีดีเป็นผู้ร่างขึ้น ให้เป็นฉบับถาวร แต่รัชกาลที่ 7 เห็นว่าควรเป็นฉบับชั่วคราวก่อน

โดยเฉพาะคำปรารภ เพราะมันเป็นรอยต่อระหว่างระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรขอร้องให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อการพัฒนาของชาติ และทรงยอมรับตามคำร้อง จึงเป็นที่มาของมาตรา 1 อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหลักการทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“แต่น่าเสียดายที่ปรีดีก้าวหน้าเกินไปในตอนนั้น ประชาธิปไตยจะก้าวหน้าได้ ประชาชนต้องเป็นพลเมืองมีความรับผิดชอบต่อประชาชน สิ่งที่จะช่วยคือการศึกษา วันที่ 27 มิ.ย. 2476 จึงก่อตั้งธรรมศาสตร์ขึ้น ผมชื่นชมปรีดีมากที่เคยยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด พูดว่าตอนที่ข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจเราเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้ในวันข้างหน้า”

ด้าน ปฤณ เทพนรินทร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปี 2540 เราเห็นดุลยภาพความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ผลักให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าได้บ้าง ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ตอนนี้ความแตกแยกพัฒนามาไกลมาก ผู้คนรู้สึกขมคอหากต้องญาติดีกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เงื่อนไขสำคัญในความสำเร็จของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือ การประนีประนอมต้องค่อยๆ เริ่มจากคนที่พอคุยกันได้แล้วเริ่มขยายไป เพื่อคว้าโอกาสที่เราสามารถสร้างดุลยภาพใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้ได้ ซึ่งมรดกทางภูมิปัญญาของปรีดีในเรื่องนี้ เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาสังคมไทยที่ดีกว่า ในช่วงศักราชใหม่ที่เรากำลังผูกตัวเข้ากับทุนนิยมอย่างเข้มข้น

ภาพประกอบข่าว