posttoday

กังขากม.ยุทธศาสตร์ฯ บิ๊กทหารคุมอนาคตชาติ

21 เมษายน 2560

การประชุมสนช. ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ... ตามที่ครม. เสนอ

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การให้มีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ในมาตรา 65 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดการบูรณาการแผนต่างๆ อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม แผนใช้งบประมาณ กำลังคน ซึ่งมีความสำคัญระดับชาติ และให้สอดคล้องกัน

ขณะเดียวกัน มาตรา 275 ในบทเฉพาะกาล รัฐ ต้องจัดให้มีกฎหมายดังกล่าวโดยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อกฎหมายประกาศใช้เมื่อไหร่ ก็นับหนึ่งจัดทำยุทธศาสตร์ให้เสร็จใน 1 ปี และผู้มีอำนาจหน้าที่ตามฎหมายจึงไปลงมือจัดทำ

จากนั้นเมื่อมีกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์จัดทำแล้วต้องรับฟังความเห็นเพื่อทำกรอบยกร่าง และเมื่อร่างเสร็จจึงไปรับฟังเพิ่มเติม จนกระทั่งเป็นที่พอใจก่อนเสนอ ครม.เมื่อเห็นชอบจึงเสนอให้กับสภาผู้แทนราษฎร และส่งต่อวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

“ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นเป้าหมายประเทศว่าจะเดินไปทิศทางใด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ งบประมาณ โดยต้องสอดคล้องกัน ซึ่งสำคัญเหนือแผนต่างๆ ทั้งหมด เหนือองค์กรต่างๆ ในประเทศ หากละเมิดไปปฏิบัติตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ จะมีมาตรการเชิงบังคับ คือ ตักเตือน มาตรการรุนแรง คือ รายงาน ป.ป.ช.”

ส่วนการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือว่าสมเหตุสมผล แต่ถ้าช่วงเวลาดังกล่าวหากมีสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง รัฐบาลที่เข้ามาตามวิถีทางเลือกตั้ง สามารถแก้ไขได้ตลอดเวลาแต่ต้องทำแบบเริ่มต้น ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง แต่วางไว้เพื่อให้เห็นทิศทางชัดเจน

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปราย โดย สมพร เทพสิทธา สมาชิก สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนร่างดังกล่าว แต่อยากเสนอกรณีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งกำหนดอายุไว้ไม่เกิน 75 ปี เหมือนเป็นการกีดกันคนอายุมาก และควรเพิ่มยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องศาสนา เพราะเป็นปัญหาสำคัญกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงชาติ

ด้าน สนิท อักษรแก้ว สมาชิก สนช. มองว่า มาตรา 6 อยากให้เพิ่มเติมคำว่าทิศทางและเป้าหมาย เพราะเหมือนเป็นหางเสือ อีกทั้ง ถ้าใส่วงเล็บสองคิดว่าน่าจะทำให้การร่างเนื้อหายุทธศาสตร์ชาติแต่ละเรื่องมีความชัดเจนมากขึ้น มาตรา 7 ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต จึงจะประสบความสำเร็จ

ขณะที่ ตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.เห็นว่า กฎหมายนี้ถือเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการเปลี่ยนผ่านประเทศระยะ 5 ปี ดังนั้น ควรมียุทธศาสตร์และทิศทางอย่างนี้มานานแล้ว แต่เกรงว่าการให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชงเรื่องไปยัง ป.ป.ช.เอาผิดลงโทษ ส่วนราชการหรือข้าราชการที่ฝ่าฝืนไม่ทำตามอาจสุ่มเสี่ยงถูกกลั่นแกล้งในทางการเมือง จึงอยากให้ปรับปรุงเนื้อหา

เจตน์ ศิรทรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถือว่าสำคัญ เป็นเกราะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินไปได้ จึงหวังว่ายุทธศาสตร์ชาติที่จะมีขึ้น จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้า โดยไม่ถอยหลัง ดังนั้น การเดินหน้าจึงต้องอาศัยภาคประชาชนเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ควรให้นายกฯ และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุมเอง เพราะถึงอย่างไรนายกฯ ก็ต้องมารายงานผลต่อสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว

สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้การพัฒนาประเทศ มีความต่อเนื่อง แต่เมื่อดูจากองค์ประกอบโครงสร้างของคณะกรรมการดำเนินงานแล้ว มีบุคลากรทางด้านความมั่นคงมากเกินไป จึงเกรงว่า จะกลายเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงมากกว่าทางด้านเศรษฐกิจ จึงขอเสนอให้ปรับลดสัดส่วน เพื่อนำประเทศไทยไปสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ควรนำคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจดิจิทัล เข้าไปดำเนินงานด้วย

วิษณุ ชี้แจงว่า จากที่สมาชิกอภิปรายแบ่งได้เป็น 4 หมวดหมู่ใหญ่ๆ 1.กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือซูเปอร์บอร์ด โดยเฉพาะกำหนดอายุไม่เกิน 75 ปีนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่กรรมาธิการ (กมธ.) ดำเนินการ เพราะอายุนั้นถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนเพิ่มกรรมการความเชี่ยวชาญต่างประเทศ หรือเพิ่มสัดส่วนประชาชน หรือตัวแทนจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดฝากให้ กมธ.พิจารณา

ทั้งนี้ องค์ประกอบมี 32 คน ถ้าจะเพิ่มต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และการให้ฝ่ายความมั่นคงมากนั้นมีที่มาที่ไป การเพิ่มตำแหน่งเหล่านี้

เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง เพื่อเอาเข้ามาดูความมั่นคง ส่วนยุทธศาสตร์ควรมีกี่ด้านนั้น ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ 6 ด้านนี้ สามารถเพิ่มเติมได้ แต่รัฐบาลมองว่าศาสนายังไม่ใช่ประเด็นเฉพาะ

อย่างไรก็ดี ภายหลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยคะแนน 196 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 พร้อมให้ตั้ง กมธ.วิสามัญดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน