posttoday

อัดแพ็กเกจ ซื้อใจรากหญ้า กู้เชื่อมั่น คสช.ปูทาง ‘อนาคต’

20 เมษายน 2560

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายปลายโรดแมป กับภารกิจสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแม่น้ำสายต่างๆต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้เดินหน้าไปจนถึง “การเลือกตั้ง”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายปลายโรดแมป กับภารกิจสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแม่น้ำสายต่างๆ ต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้เดินหน้าไปจนถึง “การเลือกตั้ง” ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามกำหนดการที่วางไว้ ท่ามกลางมรสุมที่ถาโถมอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง

ล่าสุด “สวนดุสิตโพล” ออกมาตอกย้ำความน่าเป็นห่วงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยผลสำรวจออกมา ประชาชน 29.24% คิดว่าสถานการณ์รัฐบาล “ค่อนข้างน่าเป็นห่วง” เพราะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมืองและประชาชน การใช้อำนาจตัดสินใจโดยไม่ได้รับฟังเสียงจากรอบด้านของรัฐบาล ฯลฯ

อีกด้าน 26.49% “ไม่น่าเป็นห่วง” เพราะเชื่อมั่นในนายกฯ ยังควบคุมสถานการณ์ได้ การทำงานของรัฐบาลย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และ 19.39% ระบุว่า “ไม่เป็นห่วง”

สะท้อนให้เห็นสถานการณ์อันเปราะบางของรัฐบาลในเวลานี้  รวมกับความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ สอดรับกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เมื่อเดือน มี.ค. เรื่องความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล คสช. ในการทำงานช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งคะแนนนิยมตกลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นเรื่อง “ความโปร่งใส”

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และจำเป็นต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นรวมถึงคะแนนนิยมให้ฟื้นกลับคืนมาที่จะมีผลทั้งในแง่ความร่วมไม้ร่วมมือสร้างบรรยากาศเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง และขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมอย่างที่ตั้งใจ

อีกทั้งอาจยังต้องมองไกลไปถึงเรื่องผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามโรดแมปในปี 2561 เมื่อกลไกหลายอย่างตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ที่จะออกตามมา ถูกมองว่าจะทำให้พรรคการเมืองไม่อาจได้เสียงข้างมากเพียงพอจะตกลงเลือกนายกรัฐมนตรีตามลิสต์รายชื่อของแต่ละพรรคได้ และเปิดประตูให้ “นายกรัฐมนตรี” คนนอกเข้ามาทำหน้าที่

ที่สำคัญด้วยสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก การค้า การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว ยังไม่เป็นไปตามเป้า ฉุดให้การจับจ่ายใช้สอยฝืดเคือง ไม่สามารถไปหมุนฟันเฟืองเศรษฐกิจให้หมุนต่อไป ซ้ำเติมให้ทุกอย่างย่ำแย่

ไม่น่าแปลกที่จะเห็นมาตรการซื้อใจรากหญ้าออกมาเป็นระยะ ยิ่งในช่วงหลังที่จะเห็นว่ารัฐบาลทยอยออกแพ็กเกจช่วยเหลือประชาชนในหลากหลายกลุ่ม ด้วยนโยบาย ลด แลก แจก แถม

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ พักชำระหนี้เกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/2560  ปีละ 767 ล้านบาท 2 ปี รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,535 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพทำนาของสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีโอกาสนำเงินที่ต้องส่งชำระหนี้ไปฟื้นฟูตัวเอง มีเงินทุนไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมทั้งเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น

จะเห็นว่ากลุ่มชาวนาถือเป็นกลุ่มประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 287,676 ราย แถมมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2559-30 มิ.ย. 2561

ต่อเนื่องด้วยแนวคิดเรื่องเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุจากเดิมที่ได้รับ 600 บาท/เดือน เป็นรายละ 1,200-1,500 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยระหว่างนี้กำลังศึกษารายละเอียด

สอดรับไปกับการเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐรอบที่ 2 เพื่อจะได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย จากเมื่อปีที่แล้ว มีประชาชนไปลงทะเบียนทั้งสิ้น 8.3 ล้านราย แต่เป็นผู้มีสิทธิซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,500 และ 3,000 บาท จำนวน 7.7 ล้านราย

คาดว่าจากฐานข้อมูลนี้ คงจะมีการต่อยอดออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเดือดร้อนของชาวบ้านออกมาเป็นระยะในรูปแบบต่างๆ นับจากนี้

ดูๆ แล้วการอัด “แพ็กเกจ” ซื้อใจรากหญ้าของรัฐบาล คสช. ในเวลานี้จึงแทบไม่ต่างจากรูปแบบของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอาศัยความได้เปรียบในมือ คาดหวังไปถึงผลสะท้อนที่จะออกมาในการเลือกตั้งในอนาคต