posttoday

ลดวาระ ‘กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน’ ของร้อน คสช.ไม่กล้าแตะ

12 เมษายน 2560

การเมืองไทยก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลับมีเรื่องร้อนอย่างไม่น่าเชื่อ หลังสปท.เห็นชอบกับข้อเสนอลดวาระ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

การเมืองไทยก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เดิมทีนึกว่าไม่น่ามีอะไรร้อนแรงมากมายนัก แต่ทำไปทำมากลับมีเรื่องร้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ภายหลังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย.เห็นชอบกับ “ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งและวาระของการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน” ซึ่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของ สปท.เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงาน

สาระสำคัญของข้อเสนอดังกล่าวอยู่ที่รายงานหน้าที่ 8 เกี่ยวกับผู้ใหญ่บ้านและกำนัน จำนวน 4 ข้อดังนี้

1.ให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ทุก 3 ปี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559 ทั้งนี้โดยไม่มีข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งและวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

2.ให้ผู้ใหญ่บ้านทุกคนในตำบลนั้นมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน เมื่อได้รับเลือกเป็นกำนันแล้วไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้รับเงินเดือนได้เพียงตำแหน่งเดียว

3.การเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน ให้ราษฎรเป็นผู้เลือกโดยตรงจากผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งในตำบลนั้นๆ และได้ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนัน โดยให้กำนันมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้โดยไม่จำกัดวาระ

4.ให้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ดังนี้ กำนันซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีอายุครบ 60 ปี เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น เมื่อผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่ง ให้เลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่และให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

ข้อเสนอของ สปท.ดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งสำคัญ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดทั้งจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร มีความพยายามจะเข้ามาปฏิรูปด้วยการแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แต่กลับไม่สามารถดำเนินการได้ตามความประสงค์เท่าไหร่นัก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบอุปถัมภ์ที่สะสมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งต้องยอมรับว่ากำนันและผู้ใหญ่บ้านเหมือนกับที่พึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่ประชาชนตามพื้นที่ห่างไกลจะหวังพึ่งอำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้ต้องพึ่งพาอาศัยกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นสำคัญ

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองในท้องถิ่นมีลักษณะเกื้อกูลกันเช่นนี้ ทำให้เป็นระบบที่ยากต่อการถูกทลาย อีกทั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองยังจำเป็นต้องใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีกที่จะเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

ที่สุดแล้วระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่เคยได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยที่ใครเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึงจนอายุ 60 ปี ไม่ได้มีวาระการดำรงตำแหน่งตายตัวเหมือนกับ สส.หรือ สว.

นับตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ก็พุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปการบริหารส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ถึงกับต้องให้พี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มานั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า คสช.เอาจริงกับเรื่องนี้

คสช.เองก็ทราบดีว่าระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่คงกระพันมาถึงในปัจจุบัน เป็นบ่อเกิดสำคัญของการสร้างฐานทางการเมืองของพรรคการเมือง เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านจำนวนไม่น้อยในแต่ละพื้นที่ล้วนต่างเป็นหัวคะแนนให้กับพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ คสช.จึงอยากเข้ามารื้อโครงสร้างใหม่ทั้งหมด

แต่มาถึงจุดนี้กำลังมีคำถามตัวโตๆ ว่า คสช.จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ขนาดไหน

เหตุผลสำคัญที่อาจทำให้ คสช.ไม่กล้าหั่นวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน คือ แรงกระเพื่อมภายใน

แม้ คสช.จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ คสช.ก็เคยใช้บริการกำนันและผู้ใหญ่บ้านเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ถ้าไม่มีกำลังภายในของกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ยังคงเป็นคำถามที่น่าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติอย่างสวยงามอย่างที่เห็นหรือไม่

จริงอยู่การปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องที่จะมาลําเลิกบุญคุณกัน แต่การหักด้ามพร้าด้วยเข่าแบบนี้ ในมุมของ คสช.เองก็อาจคิดได้เหมือนว่าเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียเช่นกัน

ต้องไม่ลืมว่านับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง คสช.จำเป็นต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อบริหารประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านให้ราบรื่นมากที่สุด คสช.จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปะทะให้มากที่สุด เพราะขืนเดินหน้าลุยไฟและทำตามข้อเสนอของ สปท.ทุกประการ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ คสช.จะเผชิญกับคลื่นใต้น้ำ รวมทั้งจะเป็นการผลักมิตรให้ไปเป็นศัตรูโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของ คสช.ในเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นการปฏิรูปที่เป็นลักษณะไม่สุดซอย โดยไม่ปรับวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แต่จะเพิ่มระบบการประเมินการทำงานให้มีความแตกต่างไปจากเดิม เพื่อลดแรงปะทะทางการเมือง