posttoday

เปิดร่างกม.ปฏิรูป-ยุทธศาสตร์ชาติ วางหลักพัฒนาประเทศ 20 ปี

11 เมษายน 2560

การประชุมสนช. วันที่ 20 เม.ย.มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอในวาระที่ 1

หมายเหตุ: การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 20 เม.ย.มีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอในวาระที่ 1 ซึ่งร่างพ.ร.บ.แต่ละฉบับมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 5 ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี การประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติให้ทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ในยุทธศาสตร์ชาติ ต้องประกอบด้วย 1.วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ 2.เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประขาชนและด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน และ3.ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ

ทบทวนยุทธศาสตร์ทุก 5 ปี

นอกจานี้ มาตรา 7 กำหนดให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องมีการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัด รวมทั้งความเสี่ยงของประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น  กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว ต้องมีความชัดเจนเพื่อเพื่อให้เห็นภาพในอนาคตของประเทศ โดยเป็นกรอบอย่ากว้างที่ยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งมีการระบุตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน ให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์โลก แต่หากสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ชาติด้านหนึ่งได้ การทบทวนยุทธศาสตร์ชาติต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

“ผู้นำเหล่าทัพ” ร่วมทำยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 12 ของร่างกฎหมายกำหนดให้ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 14คน ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ด้านความมั่นคง การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
          
เร่งทำให้จบส่งสนช.เห็นชอบ

ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่วันที่ใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้  ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและต้องทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วัน โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20ปีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2558 จัดทำขึ้นมาเป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้น และให้นำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฎิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนด้วย

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาร่างยุทธศาสตร์และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ร่างยุทธศาสตร์ และให้สนช.มีเวลาพิจารณา 30 วันนับแต่วันที่ได้ร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะรัฐมนตรี และเมื่อสนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสนช.

ให้ปปช.ลงโทษผู้ฝ่าฝืนยุทธศาสตร์ชาติ

ในด้านการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาตินั้นมาตรา 26 กำหนดว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติราบงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป เว้นแต่เป็นกรณีของหน่วยงานรัฐที่เป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ หรือองค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้แจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ทั้งนี้ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานรัฐแล้ว และเห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและไม่มีการดำเนินการแก้ไข ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และในกรณีที่ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป

"ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ"

มาตรา  5 บัญญัติว่าการปฏิรูปประเทศต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ 1.ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ 2.สังคมมีความเป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ 3.ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ในมาตรา 7 กำหนดให้แผนการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.แผนขั้นตอน และวิธีการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และผลอันพึงประสงค์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูป ซึ่งต้องสอดคล้องกับผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ 2.กำหนดนะยะเวลาที่ต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามลำดับในลักษณะที่เป็นการบูรณาการและตัวชี้วัดผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน 3.การกำหนดหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินการ 4.วงเงินที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านหรือแต่ละเรื่อง รวมทั้งประมาณการของแหล่งที่มาของเงิน 5.ผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลา 5 ปี 6.การเสนอให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ให้พิจารณาความเร่งด่วนของการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านเพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศและต้องคำนึงถึงความพร้อมทางด้านบุคลากรและการเงินการคลังของประเทศด้วย

วางกรอบปฏิรูป 11 ด้าน

มาตรา 8 กำหนดให้แผนการปฏิรูปประเทศต้องมีทั้งหมด 11 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด  โดยจะมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านเพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ

สำหรับการได้มาซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศนั้นมีการกำหนดไว้ในมาตรา 14 ว่าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งแต่ละคณะจะประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการหนึ่งคน กรรมการปฏิรูปจำนวนไม่เกิน 14 คน โดยจะแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูป ซึ่งต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้มีประสบการณ์ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องประกอบกัน และต้องมีอายุไม่เกิน 75 ปี โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในบทเฉพาะกาลมาตรา 29 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ร่างพ.ร.บ.ใช้บังคับ

เมื่อได้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านแล้วมาตรา 10 กำหนดให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แล้วเสนอให้คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 15 วันและให้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศตามกระบวนการและระยะเวลาที่กำหนด

โดยการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ มาตรา 11 ระบุว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันและเสนอที่ประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน จากนั้นให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใน 30 วันต่อไป และต้องเสนอให้รัฐสภาทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มอบอำนาจติดตามตรวจสอบการปฏิรูป

ส่วนการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล มาตรา 26 กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อปรับปรุงการทำงานของหน่วยงานรัฐฝ่ายบริหาร ซึ่งในกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันกันกับหน่วยงานรัฐได้ ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา และเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมติประการใดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าเป็นกรณีขององค์กรนิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศประสานงานไปยังหัวหน้าหน่วยงานขององค์กรดังกล่าวเพื่อแก้ไขต่อไป โดยไม่ต้องทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
           

ภาพประกอบข่าว