posttoday

พลิกข้อเสนอสนช. อยากเห็นบรรษัทน้ำมัน

01 เมษายน 2560

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิก สนช. เป็นประธาน ได้เคยจัดทำรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ผลการศึกษาบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ผู้บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม

ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในรูปแบบสัญญานั้น รัฐต้องมีการจัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company : NOC) เพื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจจากรัฐ โดยเป็นผู้มีสิทธิในปิโตรเลียมและรับผิดชอบในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในปิโตรเลียม ซึ่งต้องเป็นคู่สัญญาในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแทนรัฐ และทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารสัญญาแบ่งปันผลผลิต

โดยจะกำหนดให้สิทธิแต่ผู้เดียวแก่ผู้รับสัญญาบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ให้มีสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเป็นผู้ร่วมพิจารณาการลงทุนและการผลิต ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นบริษัทที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมจัดตั้งขึ้นเพื่อลดอิทธิพลของบริษัทน้ำมันข้ามชาติ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติมีอยู่ในเกือบทุกประเทศ และมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ดังดูได้จากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ 13 บริษัท มีน้ำมันสำรองมากกว่า Exxon Mobil ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกว่า 77% ของน้ำมันสำรองทั่วโลกอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ

ตัวอย่างเช่น Oman Oil Company (โอมาน) PETRONAS (มาเลเซีย) Petrobas (บราซิล) Songtrach (แอลจีเรีย) Statoil (นอร์เวย์) CNPC CNOOC and Sinopec (จีน) ONGC (อินเดีย) EGPC (อียิปต์) TPAO (ตุรกี) Resent and Gazparom (รัสเซีย) Kufpec (คูเวต) ENI (อิตาลี) Nippon Oil (ญี่ปุ่น) ADNOC (อาบูดาบี) และ PTT (ไทย) เป็นต้น

จากการศึกษาบริษัทน้ำมันแห่งชาติของหลายประเทศ พบว่าในหลายบริษัทถือหุ้นโดยรัฐทั้งหมด และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา และการรับรู้ผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ นั้น มีความเห็นที่ไปในทิศทางใกล้เคียงกันในเรื่องนี้ว่า การจะนำบริษัท ปตท. มาทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อาจมิได้รับการยอมรับจากประชาชนบางส่วน เนื่องจากบริษัท ปตท. ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีการบริหารงานแบบเอกชนแล้ว

คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหาการใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จึงขอเสนให้จัดตั้ง National Oil Company ในรูปแบบของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ฐานะตัวแทนของรัฐ เป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียม รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม โดยการตราเป็นกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. มีสภาพเป็นนิติบุคคล และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมาย

โดยให้เป็นผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐ (Resource Holder) ในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ควบคุมดูแลระบบการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหลาย และมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาการจ้าง รวมถึงสัมปทานที่หมดอายุ โดยทั่วไปจัดทำได้ใน 2 รูปแบบ

รูปแบบที่ 1 แบ่งเป็น 2 หน่วยงาน โดยแยกจากกัน โดยให้มีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบาย และจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อดูแลในด้านธุรกิจปิโตรเลียมของชาติ

รูปแบบที่ 2 จัดตั้งองค์กรเดียว คือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยให้ทำหน้าที่ดูแลในด้านการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และทำธุรกิจในด้านปิโตรเลียมของชาติไปในคราวเดียวกัน

ในการนี้ต้องมีการกำหนดองค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการกำหนดให้มีคณะกรรมการบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ซึ่งต้องไม่มีลักษณะขัดกันซึ่งผลประโยชน์ในทุกกรณี

ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ด้านพลังงาน ด้านความมั่นคง เป็นต้น) และเป็นที่ยอมรับกันได้ในทุกภาคส่วน เพื่อทำหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อออกกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้กับการประกอบกิจการสำรวจและแสวงหาปิโตรเลียม

นอกจากนั้น ควรกำหนดระบบการตรวจสอบธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในการดำเนินการของบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ