posttoday

2 บิ๊กม็อบ ชงปรองดอง

18 มีนาคม 2560

ประเด็นการปรองดองนับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของคนไทยว่ามีทิศทางสู่ จุดหมายได้จริงตามเจตนารมณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ประเด็นการปรองดองนับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของ คนไทยทั้งประเทศ ว่ามีทิศทางสู่ จุดหมายได้จริงตามเจตนารมณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่

หลังจากได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งอยู่ในชุดคณะกรรมการเตรียมการ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเชิญกลุ่มการเมืองเข้าเสนอแนะความคิดเห็น

เมื่อส่องเนื้อหาสำคัญแบบสรุปเริ่มจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะประธาน ได้ทำเอกสารข้อเสนอแนะจำนวน 16 หน้า ระบุว่า แม้การปรองดองเป็นเรื่องจำเป็น แต่ประชาชนตั้งข้อ สงสัยจะสำเร็จได้โดยรัฐบาล คสช. หรือไม่

เพราะบรรยากาศยังใช้อำนาจควบคุมสิทธิเสรีภาพ และการใช้มาตรา 44 จึงเรียกร้องให้ยกเลิก อีกทั้งขอให้หยุดสร้างความเกลียดชังรอบใหม่ ตลอดจนการใช้กฎหมายและออกกฎหมายให้มีหลักนิติธรรมแท้จริง และยึดโยงกับประชาชนถูกตรวจสอบได้

โดยเฉพาะองค์กรอิสระ ซึ่ง ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญสร้างความ ขัดแย้งในสังคมไทย รวมทั้งมีการเยียวยาคดีความและทางเศรษฐกิจสังคม โดยทำความจริงให้ปรากฏ มีการยอมรับผิดและการให้อภัยตามหลักการปรองดองที่เป็นสากล

ส่วนคำถามด้านการเมือง เสนอให้ยึดหลักผลประโยชน์ชาติ การเมืองการปกครองมีเป้าหมายที่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้คู่ขัดแย้งเลิกถือเอาบุคคลสำคัญกว่าระบบและระบอบ ไม่ใช้การทหารและความรุนแรงแก้ปัญหาการเมืองหรือก่อรัฐประหาร และการ ออกกฎหมายคำสั่งจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์เพื่อปราบปรามประชาชน

ส่วนการปฏิรูปประเทศและการวางยุทธศาสตร์ชาติ ให้ดำเนินการในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย องค์กรรัฐ ข้าราชการต่างๆ ต้องขึ้นต่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่ทำตัวเป็นอิสระและมีอำนาจเหนือประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างความเท่าเทียม เน้นระบบสวัสดิการของรัฐ การใช้ระบบภาษี ที่ก้าวหน้า โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องปรับให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก บนลักษณะเฉพาะของไทย และ ประชาชนถูกยกระดับด้านความรู้ความสามารถและรายได้ จนสามารถแก้ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ

"การแก้ไขปัญหาให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข ต้องสร้างการยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบโลกเสรีประชาธิปไตยและกติการะหว่างประเทศ ด้านสิทธิพลเมืองต่างๆ ต้องสร้างนิติรัฐ นิติธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมของคน ต้องมีการปรองดองตามหลักการและทำให้ความจริงปรากฏ และต้องเยียวยาผู้สูญเสียในอดีตอย่างเหมาะสมในด้านต่างๆ"

ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณประธานมูลนิธิ กปปส. ได้เสนอ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การปฏิรูปการเมือง พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อทำการเมืองให้เป็นของประชาชน ทำให้เป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริง และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม รวมถึงการปรับอำนาจหน้าที่ของ กกต. ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

2.การแก้ปัญหาป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม พร้อมเสนอตั้งกองบัญชาการตำรวจจังหวัด แก้ปัญหาการวิ่งเต้น 3.ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบราชการ กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้จังหวัดเป็นนิติบุคคล โดยเสนอให้ นายกฯ แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยการสรรหา ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและสภาจังหวัด

4.สำคัญที่สุด คือ การปฏิรูป แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม จะทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ในวันข้างหน้า โดยเริ่มแก้จากระบบการศึกษา รื้อระบบกระทรวง และเสนอให้รัฐส่งเสริมการศึกษาในระดับอาชีวะ ปวช. และ ปวส. ฟรี และมีคุณภาพ พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองและคุณธรรม

และ 5.การส่งเสริมอาชีพ ยก ระดับรายได้ประชาชน รัฐต้องกำหนดเส้นมาตรฐานความพอเพียง ใครต่ำกว่าระดับรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือและเอาจริงเอาจัง พร้อมจัดตั้งชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งหมดจึงต้องติดตามดูว่าข้อเสนอทุกประการของสองกลุ่มขั้วการเมืองจะตอบโจทย์และพาประเทศสู่การปรองดอง ให้หลุดบ่วงกรรมเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่