posttoday

ศึกล่าภาษีชินคอร์ป คสช.โยนเผือกร้อนพ้นตัว

16 มีนาคม 2560

สถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้กำลังกลับมาระอุอีกครั้ง หลัง ครม. สั่งการให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีจาก “ทักษิณ ชินวัตร” จากการขายหุ้นชินคอร์ปประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้กำลังกลับมาระอุอีกครั้ง ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จากการขายหุ้นชินคอร์ปประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรให้แก่บริษัท เทมาเสก โฮลดิงส์ ของสิงคโปร์ จำนวน 49.59% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท เป็นเงิน 7.32 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2549 ครั้งนั้นนำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเสียภาษี

แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการได้คำตอบว่า “ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่เสียภาษี”

อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นที่เรียกว่า “บิ๊กล็อต” ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งในประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดประเด็นต่อยอดในทางกฎหมายมากมาย เช่น จริงอยู่แม้การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะไม่เสียภาษี แต่กระบวนการในการเปลี่ยนมือของผู้ถือครองหุ้นก่อนที่นำมาขายให้กับเทมาเสกนั้นชอบด้วยกฎหมายและเข้าลักษณะเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นภาษีหรือไม่ เป็นต้น

คำถามดังกล่าวสังคมก็ยังคงไร้คำตอบเหมือนเดิม จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผู้มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้นดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อเข้ามาคลี่คลายและหาคำตอบให้ชัดเจนว่าการขายหุ้นบิ๊กล็อตดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร

คตส.สรุปผลการตรวจสอบว่าหุ้นของชินคอร์ปที่ครอบครัวชินวัตรขายให้กับเทมาเส็กเป็นของ “ทักษิณ” อันเข้าข่ายเป็นความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติและความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงนำมาสู่การอายัดทรัพย์ที่ได้จากขายหุ้นไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในปี 2553 ศาลฎีกาฯ และศาลภาษีวินิจฉัยเป็นที่สุดว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของทักษิณ ดังนั้น การจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับการขายหุ้นเฉพาะในส่วนก่อนที่จะนำมาขายในตลาดหลักทรัพย์ต้องไปเรียกเก็บกับทักษิณ ไม่สามารถเรียกกับ “พานทองแท้-พินทองทา” ได้

การดำเนินการจัดเก็บภาษีในกรณีดังกล่าว ต้องยอมรับว่ากลับไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวกรมสรรพากรในฐานะหน่วยจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด เพราะหลังจากปี 2553 เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทย จนคดีคาราคาซังมาถึงปัจจุบัน

ช่วงระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2560 ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเวลาที่ล่วงเลยไปได้ทำให้คดีดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการ
เป็นการด่วน

ต้องยอมรับว่าการยื่นมือเข้ามาสั่งการให้กรมสรรพากรไปจัดการจัดเก็บภาษีชินคอร์ป แฝงด้วยนัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

กล่าวคือ ตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือมายังกรมสรรพากรจนเป็นเรื่องแดงออกมา ปรากฏว่ามีเสียงท้วงติงมายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พอสมควร โดยเฉพาะการตั้งประเด็นชวนสงสัยว่าทำไมไม่เร่งดำเนินการตั้งแต่เข้ามาสู่อำนาจใหม่

แม้กรณีนี้จะไม่เป็นผลมาจาก คสช.โดยตรง เพราะมาจากปัญหาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเรื่องมาแดงในยุค คสช.โดยบังเอิญ จึงทำให้ คสช.อยู่ในสภาพที่ต้องเอาคานมาหามไปโดยปริยาย

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล แจกแจงแนวทางการดำเนินการไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ครม.ให้แนวทางว่า เมื่อปี 2555 ศาลภาษีอากรกลางตัดสินไว้ว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เป็นนอมินีของนายทักษิณ ไม่ใช่ตัวการสำคัญ ดังนั้นการออกหมายเรียกทั้งคู่ในตอนนั้นจึงเหมือนเป็นการออกหมายเรียกนายทักษิณแล้ว จึงให้เดินหน้าเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นรายละเอียดที่มีกฎหมายเล็กซ่อนอยู่ในกฎหมายใหญ่

เชื่อมั่นว่าภายในระยะเวลา 16 วันที่เหลือ นายทักษิณเขาคงไม่มาเสียภาษีอีก แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อเขาไม่มา ถือว่าระยะเวลาได้หยุดลง ก่อนที่จะครบอายุความ 10 ปี ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จากนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป ข้อสรุปจะเป็นอย่างไรไปสู้กันใน 3 ศาล”

เมื่อพิจารณาจากท่าทีของรัฐบาลผ่านคำแถลงของ พล.ท.สรรเสริญ ถือว่าเป็นการเอาตัวรอดอย่างเห็นได้ชัด เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าคดีดังกล่าวมีประเด็นที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างเท่าไหรนัก คือ อายุความในการดำเนินคดี

ที่ผ่านมากรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงยืนยันมาตลอดว่าคดีหมดอายุความไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันกลับไปว่าคดียังไม่หมดอายุความ เพราะอภินิหารของกฎหมาย ทำให้กรมสรรพากรต้องก้มหน้ารับคำสั่งของรัฐบาลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แสดงให้เห็นว่าความเป็นเอกภาพในทางกฎหมายของรัฐบาลและกรมสรรพากรยังมีไม่มากนัก ซึ่งมองในมุมของรัฐบาลก็ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องสั่งให้กรมสรรพากรไปหาช่องทางดำเนินการ

หากรัฐบาลปล่อยให้คดีหมดอายุความตามการตีความของกรมสรรพากร รัฐบาลอาจเสียรังวัดและถูกทำลายความชอบธรรม จึงเลือกที่จะรวบหัวรวบหางและนำคดีขึ้นสู่ศาล

ปล่อยให้ทุกอย่างไปจบที่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งดีกว่าให้คดีนี้มาจบด้วยอายุความที่เป็นผลมาจากปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานรัฐ