posttoday

5 ปมร้อนเสี่ยงฉุดคสช.

15 มีนาคม 2560

ผ่านมากว่า 2 ปี 6 เดือน กับการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “​คะแนนนิยม” และ “ความเชื่อมั่น” มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หลังเผชิญมรสุมรุมเร้ารอบด้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ผ่านมา​กว่า 2 ปี 6 เดือน ​กับการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “​คะแนนนิยม” และ “ความเชื่อมั่น” มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หลังเผชิญมรสุมรุมเร้ารอบด้าน

จากผลสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” พบว่า คะแนน​ในหลายๆ ด้าน ทั้งความ​พอใจ อุดมการณ์ ​การกล้าตัดสินใจ ​ประสิทธิภาพ และ “ความโปร่งใส” ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการบริหารราชการแผ่นดินนับจากนี้ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ 5 เรื่องร้อนที่เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ถูกถอดสลักไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะปะทุขึ้นมาสร้างปัญหาซ้ำเติมการบริหารงานในช่วงโค้งสุดท้ายปลายโรดแมป คสช.

​เรื่องแรก​ การดำเนินการติดตามเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น วงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ที่กำลังจะครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าจัดการเก็บภาษีนำเงินเข้าคลังให้ได้ภายในกำหนดระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่วัน

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน​ ด้านหนึ่งการดำเนินการจัดกับภาษีในช่วงนี้ อาจถูกมองว่าเป็นการไปไล่บี้จ้องเล่นงาน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะต้องติดตามดูว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า กรมสรรพากรจะดำเนินการเรียกเก็บภาษีเองภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอมา ถ้าไม่ทำอะไรเลยเดี๋ยวเป็นปัญหาเหมือนกับคดีอื่นๆ อีก ไม่ได้เป็นการรังแกใคร แต่ให้ดูคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่ตัดสินแล้ว พบว่ามีการวางแผนแยบยลหลายทอด เดี๋ยวให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อไป​

เรื่องที่สอง ​กรณีการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อติดตามตัว พระธัมมชโย มาดำเนินคดี ซึ่งหลังจบยกแรก ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จากปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ปักหลักตรึงพื้นที่อยู่หน้าวัดและเข้าไปตรวจค้นสองรอบ แต่ก็ยังคว้าน้ำเหลว แม้อีกด้านจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ยังไม่เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่และศิษยานุศิษย์ที่ออกมาปักหลักเป็นโล่มนุษย์อยู่ภายในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเจ้าหน้าที่และพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรม ​ที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งและบานปลายไปสู่ความรุนแรง ซึ่งจะย้อนกลับมาทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล คสช.

นับจากนี้ การติดตามตัวพระธัมมชโยยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถเจ้าหน้าที่ แต่หากยิ่งนานวันแล้วยังไม่สามารถนำตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดีได้ แรงกดดันย่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ​

เรื่องที่สาม ​การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ​​ซึ่งมีเหตุให้ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว หลังเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้นจนเกรงว่าจะบานปลายไปสู่ความรุนแรง ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจพักเรื่องนี้หลังเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมสั่งให้ยกเลิกผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และกลับมาตั้งต้นเริ่มกระบวนการกันใหม่

แน่นอนว่าความพยายา​มก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงไม่หมดไป เ​มื่อฝ่ายที่สนับสนุนยังหยิบยกเหตุผลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้มาอธิบาย ดังนั้นหลังการจัดทำผลการศึกษารอบใหม่สำเร็จ ย่อมต้องกลับมาเป็นประเด็นร้อนที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างจนยากจะหาข้อสรุปร่วมกัน

เรื่องที่สี่ การจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ที่มีความพยายามมายาวนานนับสิบปี ​และรอบนี้ดูจะมีความชัดเจนมากที่สุด เมื่อ ​พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำคณะตรวจเยี่ยมพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ซึ่งเตรียมไว้สำหรับสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นี่จะเป็นแรงกดดันรอบใหม่ ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังประสบปัญหาการเงินการคลัง การใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านไปกับยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าคุ้มค่ามากน้อย หรือจำเป็นแค่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้

เรื่องสุดท้าย ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่มีผลกระทบในแทบทุกมิติ คือ เรื่องเศรษฐกิจที่เวลานี้ยังเป็นโจทย์ที่รัฐบาล คสช.ยังแก้ไม่ตก แม้จะอัดฉีดเงินเข้าระบบด้วยนโยบาย ลด แหลก แจก แถม จนถูกค่อนขอดว่าก้ำกึ่งเข้าข่ายประชานิยม​ หรือเดินตามแนวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต

ปัญหาอยู่ที่หลายนโยบาย หลายมาตรการที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ยังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้อย่างที่หวัง วนกลับมาที่ปัญหารายได้ไม่เป็นไปตามเป้า จนต้องออกมาโยนหินเรื่องการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกถล่มจนเสียหลักและพานกระทบไปถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ออกมาในช่วงนี้

ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นชนวนร้อนที่รัฐบาล คสช.จะต้องเผชิญ อยู่ที่ว่าจะจัดการกับเรื่องนี้​อย่างไร