posttoday

ผ่าโครงสร้างปยป.เข็มทิศปฏิรูปประเทศ

20 มกราคม 2560

ความคาดหวังในการปฏิรูปประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 เริ่มตั้งแต่ "บิ๊กตู่" ประกาศว่า ปี 2560 จะเป็นปีแห่งการปฏิรูป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ความคาดหวังในการปฏิรูปประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 เริ่มตั้งแต่ปีก่อน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศว่า ปี 2560 จะเป็นปีแห่งการปฏิรูปพร้อมลั่นวาจาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ "ประยุทธ์ 4" เป็น ครม.ชุดปฏิรูป จนนำมาสู่การใช้มาตรา 44 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ
 
ไฮไลต์สำคัญ ปยป. พล.อ.ประยุทธ์ ดึงภาคธุรกิจมาร่วมเป็นทีมที่ปรึกษา คือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กับคณะกรรมการและคณะทำงานประชารัฐ ล้วนแต่เป็นนักธุรกิจระดับแสนล้าน อาทิ กานต์ ตระกูลฮุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล  ฐาปน สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจอาหาร และ ศุภชัย เจียรวนนท์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงดึงตัวผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตข้าราชการ หรือข้าราชการระดับสูงปัจจุบันที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ ปยป.ยังแตกหน่อคณะกรรมการย่อย 4 ชุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามใกล้ชิด ดังนี้ 1.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ล่าสุดกำลังพิจารณาแผนปฏิรูปและข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป 137 เรื่อง กับ 11 ด้านการปฏิรูปของสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

2.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กับ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันคอยกำกับติดตามจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำกับดูแล ล่าสุดตั้งกลไกทำงานขับเคลื่อนงานปรองดองด้วยการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ มี "บิ๊กช้าง" พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

4.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายกำกับดูแลพร้อมกับตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือ PMDU มี สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ปยป. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการทั้ง 4 คณะ กรรมการย่อย
 
ทั้ง 4 คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน พร้อมกับดึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธาน สปท.เข้ามาร่วมด้วย โดยจะดึงรองประธาน สนช. และ สปท.อย่างละท่านมาร่วมงาน เพื่อมาร่วมประสานงานและขับเคลื่อนการจัดทำข้อเสนอและแนวทางการผลักดันการปฏิรูปให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในข้อเสนอแนะ

สำหรับสำนักงาน PMDU ที่มี สุวิทย์เป็นแม่งานหลักถือว่ามีบทบาทสำคัญมากเพราะต้องทำหน้าที่ รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะต่างๆ จากทุกภาคส่วนมาจัดทำเป็นแผนงานตามภารกิจ 3 คณะกรรมการข้างต้น คือ แนวทางการปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ทุกข้อเสนอล้วนต้องกลั่นกรองจนตกผนึกทางความคิดและมีความเป็นไปได้เชิงรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง ก่อนนำเสนอ ปยป. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจเชิงนโยบาย เช่น มาตรา 44 หรือตรากฎหมาย พ.ร.บ. พ.ร.ก. หรือ พ.ร.ฎ. เป็นต้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเหตุผลที่ ครม. และ คสช.ใช้มาตรา 44 ตั้ง ปยป. เพราะงานปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เดิมจะเริ่มต้นได้เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่ารัฐบาลตั้งใจจริงเดินหน้าปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ จึงใช้มาตรา 44 โดยไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อให้การเดินหน้าประเทศเป็นไปได้โดยรวดเร็ว

"เดิมการแก้ปัญหาประเทศ เช่น ไอยูยู หรือไอเคโอ หากในระดับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแก้ไม่ได้ จะส่งต่อมาให้ระดับคณะกรรมการขับเคลื่อน มี 6 รองนายกรัฐมนตรีกำกับเพื่อบูรณาการแก้ปัญหา แต่จากนี้ไปปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมดจะส่งผ่านคณะ ปยป.ที่เข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศและวางยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ปยป.จะใหญ่หรือสำคัญกว่า ครม.แต่อย่างใด" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศในภาพรวมตามแนวทาง ปยป.เห็นว่ามีความชัดเจนในการกำหนดตัวบุคคล คณะทำงาน วิธีและกระบวนการที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเดินไปอย่างไร ส่วนผลจะออกมาอย่างไรต้องคอยติดตามกันต่อไป ว่าถึงที่สุดแล้วข้อเสนอต่างๆ จะใช้แนวทางใดในการแก้ปัญหาจริงๆ เช่น มาตรา 44 หรือการออกกฎหมายใด รัฐบาลต้องพิจารณาและคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วน

ดังนั้น ชะตากรรมปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและปรองดองสมานฉันท์ ต้องฝากฝังไว้กับ ปยป. ว่าจะพาประเทศไปถึงฝั่งฝัน คือพลิกโฉมประเทศไทยก้าวล้ำไปสู่ศตวรรษที่ 21 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลั่นสัจวาจาไว้