posttoday

อนาคต ‘องค์กรอิสระ’ ยุคเปลี่ยนผ่าน แขวนชะตาบนกฎหมายลูก

30 ธันวาคม 2559

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ต้องยอมรับว่ามีการใส่กลไกกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ต้องยอมรับว่ามีการใส่กลไกกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ

เครื่องมือหนึ่งที่ กรธ.ออกแบบไว้สำหรับการปราบโกง คือ องค์กรอิสระ โดยพบว่าองค์กรอิสระแต่ละคณะมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปรากฏให้เห็นใน 2 เรื่องสำคัญ เพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของฝ่ายบริหาร

1.มาตรา 244 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน มีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรืออาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี เพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือของหน่วยงานอื่นนั้นแล้วแต่กรณี”

2.มาตรา 245 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อพิจารณา

ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย”

ทั้งนี้ ภายใต้อำนาจขององค์กรอิสระที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ปรากฏว่ากำลังถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระแต่ละองค์กร

เริ่มตั้งแต่การที่ กรธ.ออกแบบให้มีคณะกรรมการสรรหามาทำหน้าที่พิจารณาว่ามีกรรมการองค์กรอิสระ รวมไปถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่แรกคนใดมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดหรือไม่ จากเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญในอดีตจะรับรองให้กรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ก่อนจะมีกฎหมายฉบับใหม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าดำรงตำแหน่งครบวาระ

พลิกดูแต่ละองค์กรที่ถูกเข้าข่ายโดนปฏิรูป พบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็น 2 หน่วยงานที่หืดขึ้นคอมากที่สุด เพราะมีกรรมการในองค์กรที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเก้าอี้อยู่หลายคน

ในส่วนของ กกต.มี 2 คน คือ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” และ “ประวิช รัตนเพียร” ซึ่งมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติแตกต่างกันไป กล่าวคือกรณีของประวิชติดตรงที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 216 ที่ระบุว่า “ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด”

ส่วน “สมชัย” แม้จะไม่เคยผ่านการเป็นกรรมการองค์กรอิสระหรือมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ มาก่อน แต่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 222 ที่วางกรอบให้ กกต.ที่ไม่ได้มาจากสายตุลาการหรืออัยการ จะต้องเป็นผู้ทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นปัญหาที่สมชัยยังต้องลุ้นต่อไปว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบตามกฎหมายหรือไม่

ด้านกรรมการ ป.ป.ช.รายที่ขาเก้าอี้เริ่มไม่มั่นคง คงหนีไม่พ้น “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช. เพราะเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งเข้าข่ายขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ห้ามคนเคยเป็น สส. สว. ข้าราชการการเมือง มาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ

อีกคน คือ “วิทยา อาคม พิทักษ์” ในฐานะเคยเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน ส่งผลให้มีลักษณะต้องห้ามตามที่ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 216 กำหนดไว้

การกำหนดให้องค์กรอิสระต้องมาถูกแขวนบนเส้นด้ายอย่างกฎหมายลูกเช่นนี้ สร้างความหัวเสียให้กับองค์กรอิสระอยู่พอสมควร ถึงออกมาให้สัมภาษณ์ตำหนิการทำงานของ กรธ.อย่างรุนแรง จนต่างฝ่ายต่างไม่กินเส้นอยู่พักใหญ่

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ดำเนินการนั้นยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เพราะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขั้นตอนสุดท้าย

สนช.ในฐานะผู้ถืออำนาจนิติบัญญัติยังมีอำนาจเปลี่ยนแปลงจากหลังมือให้เป็นหน้ามือหรือจากหน้ามือให้เป็นหลังมืออย่างไรก็ได้

ดังนั้น นับจากนี้ไปอนาคตขององค์กรอิสระจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน