posttoday

เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย ‘เติ้ง’จารึกตำนานการเมือง

22 ธันวาคม 2559

ครอบครัวศิลปอาชา จัดทำหนังสือ “บรรหาร ศิลปอาชา : เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย” เพื่อเป็นที่ระลึกในการจากไปของ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ภายในหนังสือบอกเล่าถึงเบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ครอบครัวศิลปอาชา ได้จัดทำหนังสือ “บรรหาร ศิลปอาชา : เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย” เพื่อเป็นที่ระลึกในการจากไปของ “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย โดย ภัทระ คำพิทักษ์ และอินทรชัย พาณิชกุล เป็นผู้เรียบเรียง

ทั้งนี้ ภายในหนังสือได้แบ่งออกเป็น 14 บท โดยเนื้อหาที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ การบอกเล่าถึงเบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย เช่น การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รวมไปถึงช่วงชีวิตในการเป็นนายกฯ ของตนเอง

ปี 2519 บรรหารได้เริ่มเข้าสู่การเลือกตั้ง สส.ในนามพรรคชาติไทย และเป็น สส.ถึง 11 สมัย  จนได้ชื่อว่าเป็น สส.ตลอดกาลของสุพรรณบุรี ต่อมาเป็น รมช.อุตสาหกรรมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่ามกลางสภาพบ้านเมืองในเวลานั้นที่เกิดความผันผวนหลายครั้ง โดยเฉพาะในปี 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ จนต้องมีการเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผบ.ทบ.ในเวลานั้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ในหนังสือได้บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรรหารและ พล.อ.เปรม ไว้อย่างน่าสนใจ

“พอนายกฯ ลาออกก็ยุ่งละสิ แล้วจะเอาใครเป็นนายกฯ กันละ พรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค พากันไปหารือกับนักการเมืองท่านหนึ่งที่ย่านเพชรบุรี เรามีความเห็นตรงกันว่าพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นและเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั่นละเหมาะที่สุด ช่วงนั้นกองทัพมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ถ้ามีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารก็จะเป็นที่ยอมรับของกองทัพและสามารถประสานกลุ่มต่างๆ ให้เป็นเอกภาพได้”

“ตอนนั้นผมได้เป็นรัฐมนตรีก็เพราะท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ นะ พอป๋าเปรมเป็นนายกฯ พรรคชาติไทยก็ถูกเชิญเข้าไปที่ทำเนียบสี่เสาฯ มีคนคัดค้านว่าผมเป็นไม่ได้ ตอนนั้นท่านมีชัยอยู่ที่บ้านป๋าเปรม ท่านเป็นคนช่วยผมบอกว่าท่านบรรหารเป็นได้ เพราะท่านบรรหารสำเร็จ ม.6 นี่นะเมื่อปี 2488 ตอนนั้นคำว่ามัธยมปลายก็คือ ม.6 พอมาปี 2490 ถึงได้เป็น ม.8 เขียนชัดเลย ม.8 แต่ตอนนั้นพวกทหารกลุ่มหนึ่งเล่นงานผม และมาแก้กฎหมายว่าสำเร็จมัธยมปลาย คือ ม.8 นะไม่ใช่ ม.6 ตอนนั้น ม.6 คือเรียกมัธยมปลาย แต่ป๋าไม่ได้รังเกียจ ไม่มีเลย...”

“ผมทำให้ป๋าเยอะเลย ใครต่อใครยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ ผมก็ไปประสานงานขอให้เขาถอนทีนี้ตอนหลังหลายครั้งเข้าท่านก็ไม่ไหว...”

หลังจาก พล.อ.เปรม ตัดสินใจวางมือทางการเมืองด้วยประโยคอมตะ “ผมพอแล้ว” ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยให้ พล.อ.ชาติชาย ขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อ ซึ่งบรรหารบอกเล่าดังนี้

“คือ ผมไปที่บ้านป๋า ขณะนั้นใครหลายคนนั่งล้อมป๋าอยู่ แล้วก็รวมถึงคุณสิทธิ (เศวตศิลา หัวหน้าพรรคกิจสังคมขณะนั้น) พอป๋าเปรมบอก ผมไม่เป็นแล้วนะ ทางพรรคกิจสังคมก็เสนอคุณสิทธิ ทางผมก็เสนอให้ป๋าพิจารณาพี่ชาติ ป๋าเปรมก็บอกว่านี่ทุกคนนะ ให้ชาติชายเป็นนายกฯ แล้วกัน เสร็จเรียบร้อย ผมก็ไปรีบหาเสียง ไปหาคุณอุกฤษ มงคลนาวิน (ประธานรัฐสภาในขณะนั้น) ที่บ้าน ให้ไปทำขั้นตอนทูลเกล้าฯ ถวายชื่อพี่ชาติเป็นนายกฯ ซึ่งต้องรวบรวมคะแนนเสียงด้วย 3-4 พรรค ให้ได้ครบตามจำนวนที่ต้องตั้งรัฐบาลก่อน”

ส่วนการเป็นนายกฯ ในช่วงหนึ่งของบรรหาร ในหนังสือได้บรรยายชวนให้เห็นภาพถึงกราฟชีวิตทางการเมืองที่มีขึ้นและมีลง อีกทั้งยังเล่าถึงเบื้องหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้เผ็ดพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังจะหักหลัง

ปี 2538 พรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งได้เสียงมากที่สุด 92 เสียง ซึ่งทำให้ตัวเองจะได้เป็นนายกฯ คนที่ 21 โดยบรรหาร เล่าว่า “โอ้โห ดีใจ ใครต่อใครมาเยอะแยะไปหมด ทักษิณ (ชินวัตร หัวหน้าพรรคพลังธรรม) ก็มา สมัคร (สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย) ก็มา มนตรี (พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม) ก็มา ล้อมกันอยู่ที่ห้องประชุมบ้านจรัญฯ ห้อมล้อมกันหมดเราก็ดีใจ

“ตื่นเต้นจนวันนั้นนอนไม่หลับนะ ขนาดว่าแขกคนสุดท้ายจะกลับได้ก็ตีสามกว่าแล้ว”

ปลายปี 2539 พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ท่ามกลางกระแสข่าวว่างานนี้มีเพื่อนรักจะหักเหลี่ยมโหด เพื่อบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

“ตอนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมนั่งอยู่คนเดียว มีโภคินนั่งข้างๆ บ้าง ที่เหลือออกจากที่นั่งลงไปหมดเลย ตอนนั้นผมก็เสียใจนะ แต่ก็รู้แล้วว่าเขาจะหักหลังแล้ว ไม่มีใครให้กำลังใจนอกจากลูก มีแต่ข้าราชการที่เราเรียกมาช่วยส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้เป็นเรื่องย่อนะ แล้วเราต้องมาแตกเอง ตอนนั้นไม่มีเวลาคิดหรอกว่า ถ้าเราผ่านเรื่องตรงนี้ไปได้ จะจัดการยังไง จนกระทั่งตอนหลังสืบได้ว่าเขาจะล้มผมที่บ้านพี่จิ๋ว มีเฉลิมอยู่ด้วย”

จากนั้นบรรหาร บอกถึงการยุบสภา ในปีนั้นว่า “เขาป้องกันไว้หมดแล้ว เขาดักไว้ทุกทิศทาง ทำด้วยระบบภายในไม่ได้หรอก ผมออกจากบ้านไม่ได้ ทหารมาล้อมเต็มบ้านไปหมด ออกไม่ได้ ทหารคุมไว้หมดที่บ้านที่จรัญฯ ออกไปไหนไม่ได้”

“พอเรียกพวกนั้นมาประชุมที่ตึกสันติไมตรี บางก็หน้ายิ้มแย้มแจ่มใสใหญ่ ทุกคนแต่งตัวกันมาอย่างดี พวกนี้ไปประชุมกันมาหมดแล้ว เขาวางกระทรวงกันไว้หมดแล้ว ใครจะอยู่ที่ไหน ตอน 6 โมงเย็น พอ 6 โมงเย็นปั๊บ พี่จิ๋วก็ไปเข้าห้องน้ำ ออกมา เห้ย อะไรวะ ทำไมอย่างนี้นี่ ยุบสภาแล้ว ไหนทีแรกบอกจะไม่ยุบล่ะ ผมก็ไม่พูดอะไรมาก ผมพูดคำเดียว ต่างคนต่างไปแล้วกันนะ แล้วผมก็ลุกขึ้นเดินออกเลย ต่างคนต่างไปนะ ไปเลือกตั้งกันเอาเอง จบ ยังจำได้”

ช่วงท้ายของหนังสือเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ยุบพรรคชาติไทย และสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย บอกว่า “ผมตอบไปแล้วว่า ผมจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว เพราะเหตุว่าถ้าไม่รับขึ้นมาแล้ว ร่างขึ้นมาใหม่ มันจะยิ่งแย่กว่าเดิม...

 “...ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจะลงเป็นแบบบัญชีรายชื่อ นำพรรคสู้ต่อไป”  บรรหารสรุป