posttoday

แช่แข็งพรรคการเมือง สกัดป่วน เพิ่มเสถียรภาพ คสช.

16 ธันวาคม 2559

สัญญาณชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ออกมา “ดับฝัน” นักการเมืองด้วยการไม่ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมได้ แถมยังขู่ว่าจะใส่ล็อกเพิ่มอีกชั้น​

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

สัญญาณชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมา “ดับฝัน” นักการเมืองด้วยการไม่ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมได้ แถมยังขู่ว่าจะใส่ล็อกเพิ่มอีกชั้น​

“พอถึงเวลาก็วุ่นวาย ขอปลดล็อก มันยังไม่ปลดล็อกตัวเอง แล้วจะไปปลดใครได้ ผมก็ไม่ปลดล็อกให้หรอก วันนี้ต้องร่วมมือกันก่อน จะทำให้ปลดล็อกทุกคนได้หมด ถ้าไม่ร่วมมือ ไม่ฟัง ไม่แสดงความคิดเห็น เอาแต่ได้ ผมก็ไม่ปลดล็อก แต่จะใส่ล็อกเพิ่มขึ้นอีกชั้นด้วย”​

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างไร เพราะท่าทีจากฝั่ง คสช.แสดงออกมาอย่างต่อเนื่องว่ายังไม่คิดจะเปิดทางให้นักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวหรือดำเนินกิจกรรมการเมืองได้อย่างอิสระ ​​

แม้ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองต่างๆ จะพากันออกมาเรียกร้องขอให้สามารถเคลื่อนไหวได้บ้างอยู่หลายรอบ

แม้จะไม่ใช่การเปิดช่องเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ หรือออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นกับทุกเรื่องได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างน้อยก็ขอให้จัดประชุมหรือระดมความคิดเห็น ตลอดจนรับเงินบริจาคหรือสมัครสมาชิกพรรคได้บ้าง เพื่อไม่ให้สิ่งที่ทำมาต่อเนื่องต้องหยุดชะงัก หรือส่งผลเสียหายกระทบไปถึงระบบการทำงานของแต่ละพรรคการเมืองในอนาคต ในวันที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที

แต่ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะโน้มน้าวให้ คสช.​ยอมปลดล็อก พรรค การเมืองและนักการเมืองจึงยังอยู่ในสภาพสุญญากาศในช่วงที่บ้านเมืองยังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ​

ครั้งหนึ่งเคยวิเคราะห์กันว่า ในช่วงเวลาก่อนเปิดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ทาง คสช.คงจะยินยอมเปิดช่องให้พรรคการเมืองได้ขยับเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดความเห็นในกฎกติกาสูงสุดของประเทศ

ทว่า สุดท้าย คสช.ยังปิดตายไม่ให้พรรคการเมืองได้ออกมาแสดงความคิดความเห็นหรือประชุมพรรคเพื่อหาข้อสรุปและจุดยืนเพื่อชี้แจงต่อประชาชน ตรงกันข้ามด้วยกฎระเบียบที่ออกมาคุมเข้มเพิ่มเติมในช่วงก่อนประชามติยิ่งสะกดไม่ให้พรรคการเมืองกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่

ตอกย้ำสิ่งที่ คสช.วิตกกังวลมาโดยตลอด นั่นก็คือการปล่อยให้พรรค การเมืองเคลื่อนไหวได้อิสระย่อมนำมาสู่แรงเสียดทานที่จะย้อนกลับมายัง คสช.อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ในมุมของ คสช.ย่อมเห็นว่า ลำพังแค่มีกฎเหล็กควบคุมไว้อยู่แล้วแต่ก็ยังมีนักการเมืองบางกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ตลอดจนเรื่องต่างๆ จนสั่นคลอนเสถียรภาพของ คสช.อยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็รุนแรงจนฉุดความเชื่อมั่นและคะแนนนิยมให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ยังไม่รวมกับเรื่องการแสดงออกผ่านรูปแบบการชุมนุมที่จะปะทุตามมาทันที หลังถูกสะกดไว้มาตลอดช่วงเวลาเกือบสองปีตั้งแต่หลังรัฐประหาร ซึ่งจะยิ่งทำให้บรรยากาศบ้านเมืองกลับไปสู่ความวุ่นวาย​

ที่สำคัญอาจทำให้เป็นโอกาสให้กับมือที่สามที่คอยจ้องสร้างสถานการณ์ใช้ความวุ่นวายที่เกิดเข้าผสมโรงจนรุนแรงเกินกว่าที่ คสช.จะเข้าไปควบคุมดูแลได้

ยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายปลายโรดแมป คสช.ย่อมต้องหาทางควบคุมตัวแปร หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนออกให้หมด เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สู้อุตส่าห์ทำมาทั้งหมดต้องพังทลายก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้

ครั้งนี้ก็เช่นกันแรงกดดันจากพรรค การเมืองเริ่มมากขึ้นกับข้อเรียกร้องขอให้ คสช.ปลดล็อกเพื่อทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งในห้วงเวลาที่เหลืออยู่แค่ปีกว่า

ด้วยกฎกติการูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือทั้งตั้งแต่ระบบสมัครสมาชิกพรรคเรื่อยไปจนถึงกลไกการเลือกตั้งแบบที่ไม่เคยใช้มาก่อนย่อมต้องใช้การปรับตัวและเตรียมตัวอย่างมาก จำเป็นต้องขอให้คสช.เร่งเปิดช่องให้พรรคการเมืองขยับเพื่อเตรียมตัวได้ทัน

แต่สัญญาณล่าสุดจาก พล.อ.ประยุทธ์ ​ ชัดเจนว่าคงไม่ทำตามคำขอของพรรคการเมืองเร็วๆ นี้ 

ชั่งน้ำหนักแล้วแรงกดดันจากพรรค การเมืองที่ออกมาเรียกร้องรอบนี้ ย่อมไม่มีพลังมากไปกว่าที่ผ่านมา แถมอำนาจต่อรองหรือพลังของพรรคการเมืองก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ คสช.ต้องรับฟัง

ยิ่งในวันที่ประชาชนส่วนหนึ่งก็มีความเห็นที่ออกจะเห็นดีเห็นงามกับการที่สะกดไม่ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายในสังคมเสียด้วยซ้ำ

การเปิดให้พรรคการเมืองออกมาขยับได้ในช่วงสุดท้าย หลัง พ.ร.บ.พรรค การเมือง ออกมาแล้วจึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ดูจะปลอดภัยต่อเสถียรภาพของ คสช.​และช่วยให้ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปได้อย่างไม่สะดุด​