posttoday

"ทรัมป์"ตัวอันตรายโลกมุสลิม

11 พฤศจิกายน 2559

ได้ข้อยุติแล้วสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45 โดย โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ได้ข้อยุติแล้วสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45 โดย โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน สามารถเก็บชัยชนะเหนือฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ไปแบบเหนือความคาดหมาย อีกทั้งยังกลายเป็นสิ่งน่าประหลาดใจของโลกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องด้วยทรัมป์นับเป็นผู้สมัครที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ก้าวกระโดดสู่บทบาทผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลก

พีรยศ ราฮิมมูลา อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ความเห็นว่า ทราบกันดีสหรัฐมีสองพรรคการเมืองใหญ่ๆ ระหว่างรีพับลิกันและเดโมแครต โดยปกติแล้วรีพับลิกันเป็นพรรคที่ได้รับการสนุนจากนายทุนใหญ่จากสหรัฐ เช่น พวกพ่อค้าอาวุธสงคราม

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ได้ประกาศระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง บางครั้งมันอาจไม่เป็นไปตามที่พูดเพราะอารมณ์พาไป อย่างกรณีที่ว่าเมื่อได้เป็นประธานาธิบดีแล้วจะกีดกันไม่ให้คนมุสลิมในตะวันออกกลางหรือผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐ

ทั้งนี้ แม้เป็นสิทธิสหรัฐแต่โดยพื้นฐานของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ยกย่องเรื่องสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมกันดังนั้นเมื่อทรัมป์เอานโยบายนี้มาใช้ก็จะมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์สหรัฐกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก็คงอยู่ในสภาพลำบาก

พีรยศ ระบุว่า ผู้อพยพเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด แต่การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวลักษณะนี้อาจมีปัญหาต่อสหรัฐโดยเฉพาะเรื่องการค้า สำหรับไทยในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าไม่กระทบอะไรมาก เพราะว่าไทยเน้นการส่งออกอย่างเดียวไปสหรัฐ

ตรงนี้ต้องอาศัยด้านการทูต นโยบายระหว่างประเทศของไทยคบทุกฝ่ายไม่เลือกข้าง ไม่ว่าใครมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ยังต้องชูความสัมพันธ์ต่อไป เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐมีมาเกือบ 200 ปี ดังนั้นตรงนี้จะไม่มีผลกระทบอะไรต่อไทย

แม้ภาพรวมของอาเซียน ที่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก แต่ในที่สุดคำพูดของทรัมป์เมื่อวานหลังการเลือกตั้งแล้ว ค่อนข้างอ่อนโยนลงมา ยินดีและยอมคบกับประเทศต่างๆ ด้วยความเสมอภาค แม้จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ของคนอื่น

“ในสายตาผมคิดว่าเราไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เราเป็นประเทศเล็กๆ เพียงแต่เรามีการส่งออกไปสหรัฐเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องไม่ประมาท สหรัฐในยุคโอบามาให้ความสำคัญอาเซียนมาก เพื่อต้องการดึงมาเป็นพรรคพวก เพื่อสกัดจีน ขณะที่นโยบายของไทยซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ตรงนี้ถือว่าเป็นความได้เปรียบไทย”

ขณะที่ จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษา กล่าวว่า ใครเป็นก็แล้วแต่ แต่นโยบายพื้นฐานด้านการต่างประเทศของสหรัฐไม่ค่อยเปลี่ยน เช่น ตอนโอบามาเข้ามาบอกมีเชื้อสายมุสลิม ทว่าสุดท้ายก็คล้ายๆ เดิม

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองระหว่างฮิลลารีและทรัมป์ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ฮิลลารีเป็นคนมีวาระซ่อนเร้นเยอะ ที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญเข้าไปบดขยี้ลิเบียทำให้ประชาชนเสียชีวิต แล้วประเทศนี้ก็ค่อยๆ ล่มสลายและแตกแยก มีคำพูดที่ว่ามีประเทศไหนบ้างที่สหรัฐเข้าไปแล้วไม่พังพินาศ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างทรัมป์เป็นคนโฉ่งฉ่าง แต่ฮิลลารีซ่อนเร้น ทว่าแต่ฟังจากทรัมป์ที่พูดตอนหาเสียงค่อนข้างน่ากลัว เช่น พิจารณาเรื่องการแซงก์ชั่น อิหร่านขึ้นมาใหม่เรื่องของนโยบายด้านนิวเคลียร์ ซึ่งเจตนาเพื่อต้องการมาใช้แทนพลังงานจากน้ำมัน

ขณะเดียวกัน อิสลามโมโฟเบียแม้จะมีอยู่ในใจฮิลลารี แต่ไม่ได้ชูขึ้นเหมือน ทรัมป์ที่ต้องการกีดกันไม่ให้คนมุสลิมเข้าประเทศ แต่เชื่อว่าวันสองวันหลังจากนี้ก็จะอ่อนท่าทีลงตามธรรมชาติ เพราะใช้แค่เพียงหาเสียงเท่านั้น

จรัญ ยอมรับว่า การเลือกตั้งคราวนี้คาดการณ์ผิดกันพอสมควร นโยบายรื้อฟื้นความสัมพันธ์อิหร่านจากเมื่อก่อนก็จะแย่ลง นโยบายคนมุสลิมซึ่งอยู่มากมายในสหรัฐถ้าจะให้ออกมา หรือไม่ให้เข้า ก็ทำได้ยากมาก และเชื่อว่าเรื่องนี้ก็อาจจะมีคนคัดค้านในสภา

“ถ้าให้คนมุสลิมออกจากประเทศหรือว่าไม่รับเข้าประเทศ สิ่งสำคัญคนอเมริกันหรือคนอังกฤษที่อยู่ในประเทศแถบที่มีน้ำมัน ถ้าไม่ให้คนมุสลิมอยู่คนอเมริกันก็ต้องออกไปด้วย ภาคปฏิบัติมันคงยากมากๆ ทรัมป์สร้างความตกใจให้โลกมุสลิมพอสมควร แต่นโยบายอเมริกันเท่าที่ติดตามตั้งแต่ โรนัลด์เรแกน อดีตประธานาธิบดี ก็อยู่ในพื้นฐานเดียวกัน คือ สร้างความยิ่งใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ตัวเองทรงอิทธิพลไว้”

ด้าน ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นโยบายที่เคยพูดไว้โดยเฉพาะการห้ามมุสลิมเข้ามาในสหรัฐ อาจสร้างปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมได้ หากว่าคำพูดของทรัมป์ก่อนเลือกตั้งถูกนำมาปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน ประชาชนสหรัฐที่เป็นมุสลิมก็มีจำนวนมาก ประมาณ 8 ล้านคน ก็น่าเป็นห่วง เพราะนโยบายทรัมป์มีลักษณะเหยียดผิว และช่วงหาเสียงก็ใช้ความพยายามเกลียดชังที่พุ่งสูงขึ้นหลังเหตุการณ์ 911 และคิดว่าประเด็นนี้จะส่งผลร้ายต่อมุสลิมในสหรัฐ เพราะมุสลิมเกิดความหวาดกลัวและเป็นผลลบต่อสหรัฐในฐานะเป็นประเทศชั้นนำเรื่องประชาธิปไตย

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ เรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงในสถานการณ์ตะวันออกกลางและสถานการณ์โลก เพราะถ้าย้อนกลับไปในอดีตอย่าง จอร์จ บุช มาจากรีพับลิกัน หลังเหตุการณ์ 911 เข้าไปจัดการโค่นล้มระบอบต่างๆ เข้าไปทำสงคราม ในโลกยุคหลังสงครามเย็น สหรัฐเปลี่ยนศัตรูใหม่จากคอมมิวนิสต์เป็นโลกอิสลาม แต่ในความเป็นโลกอิสลามมีความหลากหลาย

“หลังสงครามเย็น จอร์จ บุช คือ การเหมารวมว่าโลกอิสลาม คนนับถือมุสลิม มีตัวแสดงหลากหลายมาก มีกลุ่มยึดถือสันติ เคร่งครัดศาสนา กลุ่มนิยมแนวทางโลก หรือกลุ่มใช้ความรุนแรง เหล่านี้ สหรัฐภายใต้ จอร์จ บุช เหมารวม จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิและกลัวว่าทรัมป์มาประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามตะวันออกกลาง เน้นฟื้นฟูประเทศ แต่ภายใต้สถานการณ์นี้ล่อแหลม การเผชิญหน้ากลุ่มติดอาวุธของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปาเลสไตน์ คือ ทรัมป์ให้การสนับสนุนอิสราเอล ตรงนี้ทำให้สถานการณ์โลกมุสลิมกับตะวันตกยิ่งเลวร้ายลง”