posttoday

จับตาพรรคการเมือง รื้อกฎหมายลูก-ปฏิรูปกกต.

27 กันยายน 2559

วันที่ 28 ก.ย.การเมืองไทยจะมีสองเวทีให้ติดตามกัน นั่นคือการวินิจฉัยร่างรธน.ของศาลและการจัดระดมความเห็นเกี่ยวกับร่างกม.ลูก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

วันที่ 28 ก.ย.การเมืองไทยจะมีสองเวทีให้ติดตามกัน ได้แก่ 1.การวินิจฉัยความชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.การจัดเวทีอภิปรายระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)     

แต่ละเวทีนับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยในเวทีของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ปรับแก้ตามคำถามพ่วงที่ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวาระ 5 ปีแรก สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบ ทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอนด้วยการส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น จะเป็นหน้าที่ของ กรธ.ในการนำร่างรัฐธรรมนูญมาปรับแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ขณะที่เวทีของ กรธ.ก็ต้องจับตามองเหมือนกัน เพราะเป็นครั้งแรกที่ กรธ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

โดยครั้งนี้ กรธ.จะโฟกัสไปที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และพรรคการเมืองก่อน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ กรธ.ได้รับมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนที่เหลืออีก 8 ฉบับ กรธ.จะรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอร่างกฎหมายมายัง กรธ.ก่อน จากนั้นถึงจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง

ทั้งนี้ เวทีในวันที่ 28 ก.ย. กรธ.ไม่ได้ทำหนังสือเชิญพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก กรธ.มองว่าพรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมพรรคการเมืองได้ ดังนั้น ตัวแทนของพรรคการเมืองที่จะมาในวันดังกล่าวจึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในนามส่วนบุคคลเท่านั้น

สำหรับประเด็นที่พรรคการเมืองจะแสดงความคิดเห็นนั้นครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1.การควบคุมการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง

ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่ กกต.เสนอนั้นวางหลักการให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องควบคุมสมาชิกพรรคการเมืองไม่ให้ทำผิดกฎหมายระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการบริหารพรรคควบคุมไม่ได้ จะมีผลให้นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถขอความเห็นชอบจาก กกต.เพื่อให้กรรมการบริหารพรรค การเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งในพรรค การเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ประเด็นนี้พรรคการเมืองเตรียมเสนอให้ กรธ.ในฐานะผู้ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพิจารณาให้รอบคอบ เพราะการจะสั่งให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งใดๆ นั้นควรเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่มีขอบเขตอำนาจ ไม่ใช่นายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต. แม้ว่านายทะเบียนพรรคจะมีหน้าที่ควบคุมพรรคการเมืองก็ตาม

เช่นเดียวกับการกำหนดให้พรรค การเมืองต้องสิ้นสภาพลงจากกรณีที่ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็น สส.ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจมีผลให้พรรค การเมืองขนาดเล็กเสียเปรียบ จึงควรกำหนดการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองให้ครอบคลุมเฉพาะพรรคการเมืองที่ไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในด้านอื่นๆ แทน เช่น การไม่ตั้งสาขาพรรคการเมืองให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

2.การควบคุมนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง

กกต.กำหนดเงื่อนไขการทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง ซึ่งต้องประกอบด้วย 1.ที่มางบประมาณที่ใช้ในการดำเนินนโยบาย 2.ระยะเวลาในการดำเนินนโยบาย 3.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 4.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย โดยต้องส่งให้ กกต.เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ ถ้าไม่ดำเนินการตามที่ กกต.กำหนด กกต.มีอำนาจสั่งระงับการโฆษณานโยบายนั้นของพรรคการเมืองได้

มุมมองของพรรคการเมืองต่อมาตรการนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่า กกต.ไม่ควรเข้ามาดำเนินการ เพราะการจัดทำนโยบายควรให้เสรีภาพของพรรคการเมือง ขณะเดียวกัน ในร่างรัฐธรรมนูญก็ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่สามารถเข้ามาตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลได้อยู่แล้ว จึงเห็นว่าอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตรงนี้ไม่มีความจำเป็น

3.ปฏิรูป กกต.

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และพรรคการเมือง ได้มอบอำนาจให้ กกต.ในหลายๆ ด้าน แต่อีกด้านหนึ่ง กกต.กลับกำลังมีปัญหาเรื่องการบริหารการดำเนินการภายใน เช่น การชิงตำแหน่งประธาน กกต. การบริหารที่ติดขัดในช่วงการรณรงค์ออกเสียงประชามติที่ผ่านมา หรือการที่มี กกต.บางคนถูกตรวจสอบเรื่องการทุจริต เป็นต้น

ตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่พรรค การเมืองเสนอให้ กรธ.นำมาพิจารณาว่าสมควรเซตซีโร่ กกต.หรือไม่ เพราะในเมื่อ กกต.เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบพรรคการเมือง สมควรที่ กกต.ควรจะต้องมีความโปร่งใสก่อนเช่นกัน เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือ

ประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติกำหนดให้ กกต.มีจำนวน 7 คน แต่ปัจจุบันมี กกต. 5 คน อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง กกต.แตกต่างออกไปจากอดีตพอสมควร อาจทำให้เกิดปัญหาในทางกฎหมาย

4.เซตซีโร่พรรคการเมือง

แม้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กกต.ได้ส่งไปให้ กรธ.จะยังคงให้พรรคการเมืองดำรงสถานะความเป็นพรรคการเมืองต่อไป แต่ต้องไม่ลืมว่า กรธ.จะเป็นผู้กลั่นกรองและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย

ด้วยเหตุนี้เองพรรคการเมืองจึงเกิดความไม่มั่นใจว่าพรรคการเมืองจะถูกให้สิ้นสภาพหรือไม่ เนื่องจากมองว่าเรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแอบแฝงอยู่ ส่งผลให้พรรคการเมืองเตรียมเสนอแนวทางไปยัง กรธ. เพื่อให้ กรธ.ให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการเซตซีโร่พรรคการเมืองเกิดขึ้น