posttoday

กรธ.ถือไพ่เหนือสนช. เผด็จศึกที่มานายกฯ

26 สิงหาคม 2559

ผลการประชุมกรธ. เกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ถือเป็นเรื่องที่เขย่าการเมืองไม่น้อย เพราะเป็นการแสดงออกถึงการหักด้ามพร้าด้วยเข่าอย่างชัดเจน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ผลการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ถือเป็นเรื่องที่เขย่าการเมืองไม่น้อย เพราะเป็นการแสดงออกถึงการหักด้ามพร้าด้วยเข่าอย่างชัดเจน หลังจากโดนรุมกินโต๊ะมานานหลายสัปดาห์

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แสดงท่าทีกดดัน กรธ.ค่อนข้างหนัก ที่ต้องการให้ สว.สามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ตอนแรก สนช.และ สปท.บางกลุ่มพยายามให้ สว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ แข่งกับ สส.ได้ตั้งแต่รอบแรก แต่เมื่อกระแสจากภายนอกเริ่มไม่เห็นด้วย จึงปรับเปลี่ยนเป็นให้ สว.เสนอชื่อนายกฯ รอบสองได้ หากเกิดกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ จากการเสนอชื่อของนายกฯ ได้ ซึ่งข้อเสนอของทั้งสองสภาอยู่ภายใต้ตรรกกะที่ว่าถ้าให้ สว.ร่วมลงมติเลือกได้ก็ควรให้ สว.มีสิทธิเสนอชื่อได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตรรกะที่ว่านั้นในมุมมองของ กรธ.กลับเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะ กรธ.คิดว่าคำว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ที่อยู่ในคำถามพ่วงที่ผ่านประชามตินั้น สังคมส่วนใหญ่เข้าใจว่าให้ สว.ทำหน้าที่แค่การยกมือโหวตเท่านั้น ไม่ได้มีสิทธิการเสนอชื่อนายกฯ ได้เหมือนกับ สส.

“เมื่อเป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติ กรธ. จึงเห็นว่าต้องยึดตามถ้อยคำที่ถามต่อประชาชนโดยเคร่งครัด เพราะตามหลักทั่วไปแห่งการออกเสียงประชามติ ผู้ออกเสียงประชามติย่อมออกเสียงประชามติตามพื้นฐานแห่งถ้อยคำที่ปรากฏในบัตรลงคะแนน” สาระสำคัญในเอกสารสรุปผลการประชุมของ กรธ. เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากจะเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมายแล้วในเชิงหลักการ กรธ.ยังเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ สว.เข้ามาร่วมโหวต เนื่องจาก สว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการสถาปนาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเทียบเท่า สส. ดังนั้นแม้ สนช.จะพยายามอ้างว่าในระหว่างที่รณรงค์ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีสมาชิก สนช.ไปแสดงความคิดเห็นว่าให้ สว.สามารถเสนอชื่อได้ แต่ไม่อาจถือเป็นเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงได้

ที่สุด กรธ.จึงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วยการยืนยันในหลักการเดิมของตัวเอง แต่มีการปรับเนื้อหาให้สอดรับถ้อยคำในคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติ

กล่าวคือการเสนอชื่อนายกฯ ยังคงให้สิทธิกับ สส.ตามเดิม ที่ต้องเสนอจากคนที่อยู่ในบัญชีพรรคการเมือง แต่เปลี่ยนจากการลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงเกินหนึ่งหรือ 251 คะแนนจาก สส.ทั้งหมด 500 คน มาเป็นการลงมติเลือกในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สส.และ สว.) ด้วยคะแนนเกินกึ่งหนึ่งหรือ 376 คะแนน จากสมาชิกรัฐสภา 750 คนแทน

ส่วนกรณีที่การเลือกนายกฯ ครั้งแรกไม่สามารถสำเร็จได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด กรธ.กำหนดให้เฉพาะ สส. จำนวน 250 คนขึ้นไปเท่านั้น ที่สามารถเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติ 2 ใน 3 หรือ 500 คนจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน เพื่องดเว้นการลงมติเลือกนายกฯ จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง จากนั้นการเลือกนายกฯ จะกลับมาเลือกกันในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง และจะตัดสินว่าใครจะเป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

โดยทุกขั้นตอน สว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อ แต่มีหน้าที่แค่มาประชุมและยกมือว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น

ขณะเดียวกันการแสดงออกของ กรธ.ในครั้งนี้ ถ้ามองในมิติทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังทางการเมืองครั้งสำคัญของ กรธ.ด้วย

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการทำงานของ กรธ.ได้รับแรงสนับสนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ด้วย ดังจะเห็นได้จากการส่งดอกไม้มาแสดงความยินดีกับ กรธ.ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ รวมไปถึงการไม่สัมภาษณ์ในทำนองกดดันให้ กรธ.ต้องบัญญัติให้ สว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

ยิ่งไปกว่านั้น สนช.ที่เคยคิดว่าตัวเองมีอำนาจต่อรองเหนือ กรธ. เพราะ สนช.มีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ  แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ก็ต้องปรับกระบวนทัศน์ความคิดใหม่

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.เขียนขึ้นมานั้นได้ออกแบบแก้เกมตรงนี้ไว้แล้ว ซึ่งอยู่ในมาตรา 267 ที่ระบุพอสังเขปว่า เมื่อ กรธ.ได้ทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จและส่งให้กับ สนช.แล้ว ถ้า สนช.ไม่ดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วัน จะถือว่า สนช.ได้ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ตามที่ กรธ.จัดทำขึ้นทันที

ณ เวลานี้จะเห็นได้ว่า สนช.แทบไม่เหลืออำนาจต่อรองกับ กรธ.อีกแล้ว จึงไม่แปลกที่ สนช.เริ่มส่งสัญญาณไปขอพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่ชี้ขาดว่าร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.จะได้ไปต่อหรือต้องนำกลับมาแก้ไขใหม่อีก

ถึงกระนั้นเอง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. และคณะก็ต่างเฝ้าลุ้นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยใจระทึกเช่นกัน เพราะถ้าคดีพลิกเมื่อไหร่ จากที่เป็นฝ่ายได้เปรียบจะกลายเป็นตรงกันข้ามทันที