posttoday

จับตากรธ.พร้อมหักสนช. สว.หมดสิทธิชิงนายกฯ

24 สิงหาคม 2559

เมื่อ กรธ.กอดหลักการไว้แน่น จึงไม่ต่างอะไรกับการส่งสัญญาณพร้อมหักกับ สนช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

24 ส.ค. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนัดประชุมครั้งสำคัญเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการนำคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

เดดไลน์ของ กรธ.ต้องไม่เกินวันที่ 10 ก.ย. เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วต้องส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกครั้ง

แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนปลายทาง ปรากฏว่าระหว่างเวลานี้ กรธ.กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักพอสมควรจากคนกันเองอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

สถานการณ์ในลักษณะนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ.และคณะเคยเจอมาแล้ว

ครั้งนั้นเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้ทำหนังสือถึงประธาน กรธ. ที่เป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ

คสช.มีข้อเสนอหลัก 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ สว.มาจากการสรรหา จำนวน 250 คน มีวาระ 5 ปี จากเดิมที่ กรธ.บัญญัติให้ สว.มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครตามสาขาวิชาชีพ คสช.ให้เหตุผลถึงการให้ สว.มาจากสรรหาว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ปลอดจากการเมือง เพื่อช่วยประคับประคองประเทศ

2.เสนอเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง สส. จากระบบจัดสัดส่วนปันส่วนผสมผ่านการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว มาเป็นให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อเลือก สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

3.คัดค้านการให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยเห็นว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง อาจส่งผลต่อประเทศในอนาคต จึงเห็นว่าควรเปิดทางเอาไว้

ทั้ง 3 ข้อที่มาจาก คสช. เป็นใคร ต้องนึกว่างานนี้ อ.มีชัย คงเสร็จแน่ ไม่กล้าหือกับ คสช. เพราะตัว อ.มีชัย เองเป็นสมาชิก คสช.อยู่ด้วย ย่อมต้องทำตามข้อเสนอของที่ประชุม คสช. แต่ผลที่ออกมากลับเป็นตรงข้ามด้วยการยอมหักและงอในบางส่วน จน คสช.รู้สึกว่าตัวเองรับได้และไม่เสียอะไร

อ.มีชัยและ กรธ.หักกับ คสช.ผ่านการให้คงระบบเลือกตั้ง สส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมไว้ตามเดิม แต่ยอมงอให้กับ คสช.แบบพบกันคนละครึ่งทางในอีกสองเรื่องที่เหลือ

เรื่องที่มา สว. คณะ กรธ.ยอมให้ คสช.เข้ามาทำหน้าที่สรรหา แต่การสรรหาดังกล่าวจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อบุคคลผ่านการเลือกกันของผู้สมัครตามสาขาวิชาชีพที่ กรธ.กำหนดไว้ด้วย ส่วนการเลือกนายกฯ คสช.อยากให้ยกเลิกการเลือกคนจากบัญชีพรรคการเมือง แต่ กรธ.ยอมรับแบบมีเงื่อนไข โดยการกำหนดให้การเลือกนายกฯ จากคนนอกจะต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้งดเว้นการใช้บทบัญญัติดังกล่าวก่อน จากนั้นจะให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายเลือกนายกฯ อีกครั้ง

ถ้ามองถึงท่าทีของคณะ กรธ.ที่มีต่อ คสช.ดังกล่าว ย่อมมองได้ว่า “กรธ.ยอมให้มามากพอแล้ว”

จึงไม่แปลกที่ประธาน กรธ.จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ถามว่า สนช.เสนอให้ สว.เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อนายกฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ว่า “หากเสนอมาตอนทำร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว”

จากคำพูดของ อ.มีชัย ไม่ต่างอะไรกับธงที่ กรธ.ปักไว้แล้วว่า สว.จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภา เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในบทบัญญัติหลักของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สส.เป็นคนเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก แต่บทเฉพาะกาลถ้ามีคำถามพ่วงเข้าไปจะต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สส.และ สว.) ลงมติเลือก

ดังนั้น กรธ.จึงเตรียมประชุมกันในวันที่ 24 ส.ค.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่หากวางหลักการที่ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ โดยที่ สว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ในทุกขั้นตอน แนวทางนี้จะมีส่วนช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิดภาวะขัดกันเองมากที่สุด

กล่าวคือ เมื่อบทหลักกำหนดให้นายกฯ เลือกกันในสภา ในบทเฉพาะกาลที่ปรับปรุงใหม่ควรคงหลักการนั้นไว้ด้วยการที่ สส.เป็นฝ่ายเสนอชื่อคนในบัญชีพรรคการเมืองต่อที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 คะแนนจาก สส.และ สว.750 คน ตัดสินว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ

ขณะเดียวกัน หากการเลือกรอบแรกไม่สำเร็จ จะให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ 2 ใน 3 หรือ 500 คนจากสมาชิกรัฐสภา 750 คน งดเว้นการใช้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้รัฐสภาเลือกคนจากคนนอกบัญชีพรรคการเมืองได้ ก่อนที่จะให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติอีกครั้งว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งการเสนอชื่อในขั้นตอนนี้จะยังคงเป็นสิทธิของ สส.ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยตามเดิม

เมื่อ กรธ.กอดหลักการไว้แน่น จึงไม่ต่างอะไรกับการส่งสัญญาณพร้อมหักกับ สนช. บางทีหลังจากเสร็จศึกที่รบกันเองแล้วอาจทำให้มองหน้ากันไม่ติดก็เป็นได้