posttoday

เส้นทางหลังผลประชามติ Yes-No กำหนดอนาคตการเมืองไทย

06 สิงหาคม 2559

หลังปิดหีบออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. เวลา 16.00 น. ผลลัพธ์สามารถออกได้หลายหน้าอย่างน้อย 4 ทิศทางด้วยกัน ซึ่งผลที่ออกมาจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางแตกต่างกัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“ในส่วนตัวผมก็จะไปร่วมลงประชามติในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และจะลงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำถามพ่วงประชามติ เพราะถ้าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไปไม่ได้ ทุกอย่างจะกลับไปที่เดิมและที่สำคัญเราต้องใช้เวลาที่เหลือร่างกฎหมายลูกซึ่งยังมีอีกหลายขั้นด้วยกัน”

เป็นคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระหว่างร่วมงานโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าครบรอบ 129 ปี อย่างเป็นทางการว่า จะขอรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับการแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลต่อทิศทางของการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพราะหลังปิดหีบเวลา 16.00 น. ผลลัพธ์สามารถออกได้หลายหน้าอย่างน้อย 4 ทิศทางด้วยกัน ซึ่งผลที่ออกมาจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางแตกต่างกัน

1.ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน เท่ากับว่าทุกกระบวนการจะเดินหน้าเพื่อพาประเทศไปตามโรดแมปและการเลือกตั้ง สส.ในปี 2560 โดยจะเริ่มจากการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องนำเนื้อหาในคำถามพ่วงมาปรับและบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำถามพ่วงมีเนื้อหาว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนด ไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

กรธ.มีระยะเวลาปรับแก้เนื้อหาให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ จากนั้นส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

ในกรณีนี้หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขนั้นไม่สอดคล้องกับผลประชามติ กรธ.ต้องนำกลับมาแก้ไขตามความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขของ กรธ.สอดคล้องกับผลประชามติ ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้วต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง สส.ทันที ประกอบด้วย การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ กรธ.จำนวน 10 ฉบับ เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 240 วัน โดย สนช.มีเวลาพิจารณาให้เสร็จ 60 วัน นับแต่ได้รับร่าง พ.ร.บ.
ดังกล่าวมาจาก กรธ.

อย่างไรก็ตาม ถ้าร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ 1.การเลือกตั้ง สส. 2.การได้มาซึ่ง สว. 3.คณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.พรรคการเมือง มีผลบังคับใช้แล้วให้ดำเนินการประกาศให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันต่อไป ขณะเดียวกันในระหว่างนี้ คสช.ต้องดำเนินการสรรหา สว.จำนวน 250 คน ให้เสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง สส.ด้วย

เช่นเดียวกับกระบวนการปฏิรูปประเทศหลังจากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านนั้น ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าการตรากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศและได้รับการประกาศบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ สนช.จะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ สส.และ สว. จนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาชุดใหม่ ส่วน คสช.และคณะรัฐมนตรี ยังคงทำหน้าที่และมีอำนาจสมบูรณ์ไปจนถึงวันที่มี ครม.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่

2.ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่าน หากเป็นเช่นนี้จะมีผลให้ทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะไม่ได้กำหนดขั้นตอนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ว่านี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่โดยหลักทั่วไปแล้ว คสช.และ ครม. ต้องดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และเสนอให้ สนช.ลงมติเห็นชอบภายใน 15 วัน

แน่นอนว่าในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะต้องกำหนดขั้นตอนและกรอบเวลาเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับการบัญญัติว่าจะให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ คสช.และ ครม. และย่อมมีผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้งในปี 2560 ไม่มากก็น้อย

3.ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน มีผลให้คำถามพ่วงที่ สนช.และสปท.ตั้งขึ้นนั้นตกไป คงเหลืออยู่เพียงร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชนเท่านั้น ขั้นตอนหลังจากนั้นจะเหมือนกับกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงได้รับความเห็นชอบ เพียงแต่ กรธ.ไม่ต้องนำคำถามพ่วงมาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำถามพ่วงไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

4.คำถามพ่วงผ่านแต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เป็นอีกสถานการณ์ที่มีความน่าสนใจ เนื่องจาก คสช.และ ครม. ต้องออกแบบกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า “คำถามพ่วงมีผลผูกพันต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งต่อไปหรือไม่”

หาก คสช.และ ครม.กำหนดลงไปในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในทำนองว่า “การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องนำประเด็นเพิ่มเติมของการออกเสียงประชามติที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนมาพิจารณาด้วย” เท่ากับว่าอาจได้เห็นว่าการให้รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้า คสช.และครม.ไม่ได้กำหนดไว้ คณะผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องนำคำถามพ่วงมาพิจารณา

ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะออกมาอย่างไร แต่การเลือกตั้ง สส.จะมีขึ้นในปี 2560 แน่นอน