posttoday

ย้อนสถิติ ประชามติ รธน.2550

03 สิงหาคม 2559

ย้อนดูผลออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ2550 ที่มีผู้เห็นชอบ 14.7 ล้านคน และไม่เห็นชอบ 10.7 ล้านคน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ หลายฝ่าย พากันเปิดหน้าออกมาแสดงจุดยืนทั้ง "รับ" และ "ไม่รับ" ชัดเจน ท่ามกลางความเห็นต่างจนยากคาดเดาได้ว่า ผลประชามติรอบนี้จะออกมาอย่างไร

เบื้องต้นจากประชาชนไทยทั้งหมด 65 ล้านคน มีผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติรอบนี้  50 ล้านคน โดยจะต้องมีสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับถึงวัน ออกเสียง) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันออกเสียง

รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ได้แก่ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต้องคุมขังอยู่โดย หมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือ เป็นครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในวันที่ 20 ส.ค. 2550 เป็นการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ  ที่มี ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมี นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

ย้อนไปดูรายละเอียดการลงประชามติครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิทั้งหมด 45,092,955 คน แต่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 14,727,306 คน  หรือคิดเป็น 57.61% จำแนกเป็นบัตรที่เป็นบัตรดี  25,474,747 เสียง (98.06%) และเป็นบัตรเสีย 504,207 เสียง (1.94%)

สรุป การออกเสียงประชามติวันที่ 19 ส.ค. 2550 ผลคะแนนออกมา มีผู้เห็นชอบ 14,727,306 เสียง คิดเป็นร้อยละ 57.81% ขณะที่มีเสียงไม่เห็นชอบ 10,747,441 เสียง หรือ 42.19%

จำแนกคะแนนเป็นรายภาค จะพบว่า ภาคใต้ มีคนออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมากสุด 3,214,506 เสียง หรือ 88.30% รองลงมาคือภาคกลาง 5,714,973 เสียง หรือ 66.53% ภาคเหนือ 2,747,645 เสียง หรือ 54.47% และภาคอีสาน 3,050,182 เสียง หรือ 37.20%

สำหรับภาคที่มีจำนวนผู้มาออกเสียง "ไม่เห็นชอบ" มากที่สุด คือ ภาคอีสาน 5,149,957 เสียง หรือ 62.80% รองลงมาคือภาคเหนือ 2,296,927 เสียง หรือ 45.53% ภาคกลาง 2,874,674 เสียง หรือ 33.47% และภาคใต้ 425,883 เสียง หรือ 11.70%

จังหวัดที่มีผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ ชุมพร มีผู้ออกเสียงเห็นชอบมากที่สุด 197,717 เสียง หรือ 93.20% ตรัง 252,426 เสียง หรือ 92.46% และนครศรีธรรมราช 507,448 เสียง หรือ 92.20%

ส่วนจังหวัดที่มีผู้ออกเสียง "ไม่เห็นชอบ" มากที่สุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ นครพนม 209,016 เสียง หรือ 77.59% ร้อยเอ็ด 374,774 เสียง หรือ 77.18% มุกดาหาร 104,907 เสียง หรือ 77.18%

จังหวัดที่มีผู้มาออกเสียงใช้สิทธิมากที่สุด 3 จังหวัดแรกคือ ลำพูน 237,265 คน หรือ 75.35% ตาก 211,298 คน หรือ 74.54 เสียง และเชียงใหม่ 818,180 คน หรือ 70.31%

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้มาออกเสียงใช้สิทธิน้อยที่สุดคือ สุรินทร์ 481,180 คน หรือ 49.66% หนองคาย 330,319 คน หรือ 51.56% และศรีสะเกษ 532,000 เสียง หรือ 51.67%

การลงประชามติครั้งนี้แม้จะมีลักษณะเฉพาะตัวทั้งเนื้อหา รูปแบบ ความรู้สึกของประชาชน และบริบทสังคม คงยากจะเปรียบเทียบกับการลงประชามติครั้งที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน แต่หากย้อนดูข้อมูลการออกเสียงประชามติที่ผ่านมาก็อาจได้เห็นแง่มุมและทิศทาง ที่นำมาเทียบเคียงกับครั้งนี้ได้บ้าง

ที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญ

มีเพลงประกอบรัฐธรรมนูญมากที่สุด

นอกจากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์แล้ว​เพลงประชาพันธ์เนื้อหารัฐธรรมนูญก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจำแนกเพลงออกเป็นรายภาคเพื่อสื่อถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่ ภาคกลาง เป็นเพลงแหล่และเพลงโทนของ ชินกร ไกรลาศ ​ภาคใต้ เป็นเพลงของ​ เอกชัย ศรีวิชัย ​​ภาคอีสาน เป็นเพลงหมอลำหรือลำตัด โดย ​จินตหรา พูนลาภ และ ภาคเหนือเป็นเพลงสะล้อซอซึงจาก ​ธีรวัฒน์ หมื่นทา ศิลปินพื้นเมือง ซึ่งถือว่าทุกภาคจะมีเพลงที่เป็นเพลงประจำภาค ยังไม่รวมกับอีกหลายเวอร์ชั่น

มีความคลุมเครือที่สุด

เส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีความคลุมเครือมากกว่าหลายฉบับที่ผ่านมา สำหรับกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติคงไม่เป็นปัญหาเพราะต้องเดินไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ แต่กรณีที่ไม่ผ่านประชามติหลายคนยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังอุบไต๋ไม่บอกว่าทางเลือกหลังจากประชามติไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร แม้จะมีหลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้ ขอความชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจออกเสียงประชามติ

คำสั่งคสช.เข้มงวดที่สุด

บรรยากาศก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยความเข้มงวด ทั้งร่างพ.ร.บ.ประชามติ และคำสั่ง คสช.​ที่สะกดไม่ให้ฝ่ายเห็นต่างออกมาเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวที่เข้าข่ายถูกตีความว่าเป็นเท็จบิดเบือนทำให้หลายคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ต่างจากการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นที่กลุ่มเห็นต่างจะไม่ได้รับความสะดวก อีกด้านกลุ่มเสื้อแดงที่จะออกมาตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติก็ถูกสกัด จนต้องไปเคลื่อนไหวกันในโซเชียลมีเดีย