posttoday

ปิดประตู ‘หงายไพ่’ คสช.อุบไต๋คุมเชิงประชามติ

22 กรกฎาคม 2559

จนถึงนาทีนี้คงเป็นไปได้ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยอม “หงายไพ่”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

จนถึงนาทีนี้คงเป็นไปได้ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยอม “หงายไพ่” แจกแจงรายละเอียดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ​ไม่ผ่านประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

แม้ล่าสุด “เครือข่ายพลเมืองผู้ห่วงใย” จะรวมตัวออกโรงเรียกร้อง​ประเด็นนี้ต่อ คสช.ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติก็ตาม

ต้องยอมรับว่าการขยับครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่ต้องการเห็นทางเลือกที่ชัดเจนเพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็น 

​ที่สำคัญ การขยับครั้งนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มที่หวังอาศัยจังหวะสร้างสถานการณ์กดดันการทำงานของ คสช. เพราะกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นเครือข่ายประชาสังคมและนักวิชาการจากหลายสถาบัน โดยมีผู้สนับสนุนลงนามในคำแถลง 117 คน กับอีก 17 องค์กร

ส่องดูรายชื่อ​ อาทิ สุริชัย หวันแก้ว​​โคทม อารียา สุรชาติบำรุงสุข บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สุหฤท สยามวาลา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ​บัญญัติ บรรทัดฐาน องอาจ คล้ามไพบูลย์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นิกร จำนง ​สมชาย วงศ์สวัสดิ์  พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ วันมูหะมัดนอร์มะทา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

หลายคนเป็นนักวิชาการเป็นที่เคารพนับถือในสังคม ขณะที่ส่วนของภาคการเมืองที่มาร่วมลงรายชื่อนั้นก็มาจากหลายพรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย หลายคนเป็นทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อดีตประธานสภา ฯลฯ ที่ทำให้เสียงสะท้อนครั้งนี้มีน้ำหนักมากกว่าที่ผ่านมา

จะเห็นว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามทวงถามความชัดเจนจาก คสช.อยู่เป็นระยะเพื่อให้การตัดสินใจออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างรอบคอบ เมื่อรู้ว่า “ทางเลือก” ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบได้ว่า “ดี” ​หรือ “ร้าย” กว่าฉบับนี้

​แต่ท่าทีที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจนคนใน คสช.ยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือและสับสน

ชัดเจนที่สุดคงเป็นท่าทีจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับการออกมาอธิบายถึงความเป็นไปได้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.ทำโดยวิธีใด 3.กรอบเวลาให้เสร็จเมื่อไร และ 4.เมื่อร่างเสร็จแล้วต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

พร้อมตบท้ายว่าส่วนตัวเห็นว่า​ไม่จำเป็นต้องประชามติอีกเพราะจะทำให้เสียเวลานาน ​

อีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยหลุดปากกว่าหากมีปัญหามากนัก ก็จะเขียนรัฐธรรมนูญเอง โดยเอาความรู้สึกของประชาชนว่าต้องการอะไรมาเขียน ก่อนจะมาอธิบายว่าเป็นคำพูดไม่ทางการ

“อย่ามาถือสาผม ผมก็พูดของผมให้มีอารมณ์ไปเรื่อย ถือเป็นหลักการพูด รู้จักกันบ้างหรือไม่ ซึ่งคำทางพระเรียกว่า เทศน์แบบคาบลูกคาบดอก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ท่าทีทั้งหลายเหล่านี้ทำยิ่งทำให้ “ทางเลือก” ในกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น ยิ่ง “คลุมเครือ”​ จนไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
กันแน่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่อาจเป็นความตั้งใจจากฝั่ง คสช. ด้วยเหตุผลหลายประการ เริ่มตั้งแต่ต้องการบีบให้กลุ่มคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคิดหนักว่าจะลงมติ “ไม่รับ” หรือไม่ เพราะไม่มีหลักประกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ออกมาใหม่จะดีกว่าฉบับที่กำลังจะลงมติ

แม้จะถูกโจมตีว่าเป็นการ “มัดมือชก” แต่ทาง คสช.ก็พยายามชี้แจงว่าอยากให้โฟกัสที่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าเปรียบเทียบระหว่างฉบับนี้หรือฉบับใหม่

ประเด็นถัดมา หาก คสช.พูดชัดเจนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรนั้น ก็เท่ากับเป็นการ “ผูกมัดตัวเอง” ให้ต้องทำตามที่รับปากอย่างไม่มีทางเลือก

ดังจะเห็นว่าจากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ​ช่วงการออกเสียงประชามติยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง​​​ ที่อาจมีปัจจัยนำไปสู่การพลิกผันได้ตลอดเวลา

​การตีกรอบให้ตัวเองต้องเดินไปตามทางที่กำหนดไว้ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงจึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะหากถึงจุดหนึ่งอาจจำเป็นต้องตัดสินใจเดินออกนอกทางที่ประกาศไว้

การเปิดทางเดินให้กว้างไว้ในช่วงปลายโรดแมปย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับ คสช.ที่กำลังจะต้องเตรียมหาทางแลนดิ้งลงจากหลังเสือ ​

ดังนั้น ต่อให้มีความพยายามหรือแรงกดดันมากแค่ไหน ก็เป็นเรื่องยากที่ คสช.จะยอมหงายไพ่เผยหน้าตักของตัวเองทั้งหมด ที่จะทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเดิมพันที่ใกล้จะรู้ผลแพ้ชนะ​