posttoday

ปูพรมแจงร่างรัฐธรรมนูญ ดันประชามติทั่วประเทศ

19 พฤษภาคม 2559

แผนปฏิบัติการปูพรมประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แผนปฏิบัติการปูพรมประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมวิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตยระดับจังหวัด หรือครู ก. โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักเพราะครู ก.ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง โดยเป็นการทำงานร่วมกับกรธ. ซึ่งการจัดโครงการจัดการฝึกอบรม ครู ก. ครั้งนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนผู้นำชุมชน รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ จาก 77 จังหวัด จังหวัดละ 5 คน มาเป็นหัวขบวนในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยการจัดฝึกอบรมครั้งนี้รัฐบาลมุ่งหวังสร้างเครือข่ายเป็นแนวร่วมในการชี้แจงทำความเข้าใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด และนำไปถ่ายทอดและจัดฝึกอบรมครู ข. ในระดับอำเภอ และครู ค. ในระดับหมู่บ้านและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

มีชัย กล่าวเปิดโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ (ครู ก.) ว่า วิทยากรที่คัดเลือกมาอบรมครู ก. ส่วนใหญ่วิทยากรอยู่ในระดับสูงมีความรู้พื้นฐาน และสะอาด แต่ก็ต้องมีกลไกในการติดตามการทำงานและให้กำลังใจของครู ก.เวลาที่ลงพื้นที่ชี้แจงด้วย

ทั้งนี้ การชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะการจะทำประชามติต้องบอกให้ประชาชนรับรู้มากที่สุดไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราจะปิดหูปิดตาประชาชนได้อย่างไร แต่เราไม่ได้มีอะไรห้าม เพียงแค่กังวลว่าอย่าไปบิดเบือนเท่านั้น เพราะถ้าไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ต้องบิดเบือน ไม่ใช่ไปบอกแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย  และไม่กังวลกระแสคัดค้านที่ออกมาจากทุกฝ่าย หากเขาวิจารณ์โดยสุจริตใจ เพราะยืนยันว่า กรธ.ก็ทำด้วยความสุจริตใจ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง แต่กังวลถ้าเขาไม่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วไปฟังคนอื่นมาวิจารณ์ต่อก็แย่ บ้านเมืองควรเปิดหูเปิดตา

“กรธ.ไม่ใช่นักการเมือง ที่พยายามใช้แนวทางชี้นำประชาชนว่า ให้โหวตเยส หรือโหวตโน ซึ่งตอนนี้นักการเมืองกำลังทำแนวทางดังกล่าวอยู่” มีชัย กล่าว

มีชัย กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของครู ก. คือ การนำข้อมูลความจริงไปบอกกับประชาชน ส่วนประชาชนจะเห็นอย่างไรเป็นสิทธิของเขา ไม่สามารถบอกให้ประชาชนว่าควรโหวตอย่างไร เพราะ กรธ.ไม่ใช่นักการเมืองที่เขาพยายามบอกกับชาวบ้านว่าให้โหวตรับหรือไม่รับ ซึ่งเป็นแนวทางที่นักการเมืองทำอยู่ในตอนนี้ แต่ กรธ.ไม่กล้าทำ

หน้าที่ของ กรธ.ตอนนี้ คือการบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญมีอะไร และจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร เหตุผลสำคัญที่มองว่านักการเมืองพยายามชี้นำประชาชนเพราะเขาไม่ต้องการให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลกระทบกับนักการเมืองเกิดขึ้นได้ เช่น มีข้อเขียนว่า ห้ามนักข่าวดักสัมภาษณ์ คนอาจโกรธและไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับที่เขียนว่า ห้ามนักการเมืองโกง ทำให้คนโกงก็ไม่พอใจ

ขณะที่ ครู ก.รายหนึ่ง จากกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการรณรงค์เผยแพร่รัฐธรรมนูญ ทางจังหวัดเองก็ต้องทราบข้อมูลพื้นที่ และต้องประเมินคะแนนโหวตในแต่ละพื้นที่ให้ได้ว่า พื้นที่ใดจะโหวตเยส หรือโหวตโน ซึ่งครู ก.ต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องพร้อมกับรายงานให้กับส่วนกลางได้รับทราบเป็นระยะๆ และนโยบายสำคัญที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำชับมาก คือ ห้ามเกิดเหตุต้าน หรือตีกันในวันลงประชามติเด็ดขาด หรือระหว่างการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. และ กกต.

“สิ่งสำคัญในช่วงเดือน ส.ค.เป็นช่วงแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้นการทำงานประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และผลของการทำประชามติ จะนำมาเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการฝ่ายปกครองด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เช่น หากพื้นที่ใดเกิดเหตุวุ่นวาย หรือพื้นที่ใดประชาชนออกมาลงประชามติน้อย หรือพื้นที่ใดผลคะแนนโหวตโนเยอะๆ จะส่งผลอย่างมากต่อการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการ ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำงานกันอย่างหนักและเต็มที่ พูดง่ายๆ ต้องไม่เกียร์ว่างเด็ดขาดไม่งั้นอาจโดนย้ายได้” 

ครู ก. อีกรายหนึ่งกล่าวว่า ทางรัฐบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับอย่างมากให้จังหวัดต้องระดมฝ่ายปกครองทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ระดับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่นต่างๆ มาช่วยกันรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญในการทำงานต้องผนึกการทำงานกับทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ด้วย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำงานประสานงานร่วมกับแม่ทัพภาค ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค โดยเป็นการทำงานระหว่างฝ่ายพลเรือนและทหาร ต้องผสานเป็นหนึ่งเดียวในการตอบสนองนโยบายรัฐบาล และ คสช. ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เพราะทางจังหวัดไม่ต้องการให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิด หรือเกิดการทำความผิดกฎหมาย รวมถึงประเด็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ นโยบายพื้นฐานของรัฐ ระบบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา ที่มานายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และแนวทางการปฏิรูปโดยต้องอธิบายเป็นภาษาชาวบ้านและเข้าใจง่าย

“เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งจะเน้นการอธิบายให้ง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นภาษากฎหมาย จึงถือว่าเป็นเรื่องยากที่ต้องทำความเข้าใจ สิ่งสำคัญไม่ได้รณรงค์ให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะพยายามให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด ส่วนประชาชนจะคิดตัดสินใจอย่างไรเป็นเรื่องของประชาชนที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวของเขาเอง”

ครู ก.จาก จ.ปทุมธานี คนหนึ่ง กล่าวว่า ในการทำงานต้องร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนไปลงคะแนนประชามติให้มากที่สุดในวันที่ 7 ส.ค.นี้ และต้องให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่ของ กรธ. และ กกต.อย่างเต็มที่ ซึ่งการทำงานต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู นักเรียน รด. ลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครป้องกันชาติ อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครป้องกันสาธารณภัย และกลุ่มมวลชนจัดตั้งของ กอ.รมน.ให้มาช่วยสนับสนุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ