posttoday

‘มีชัย’ งัดข้อ ‘คสช.’ ระเบิดเวลารอวันปะทุ

09 มีนาคม 2559

กลายเป็นปรากฏการณ์ร้อนในทางการเมืองขึ้นมาทันที ภายหลัง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นปรากฏการณ์ร้อนในทางการเมืองขึ้นมาทันที ภายหลัง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่เดินทางไปประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.)สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค.

“เพราะไม่ได้รับเชิญ กรธ.จึงไม่ได้ส่งใครไปร่วมประชุม ไม่ใช่เพราะ กรธ.หารือนอกรอบกับ ครม.ก่อนหน้านี้แล้ว และหากตนเข้าร่วมประชุมกลัวว่าจะถูกผูกมัด หากจะสั่งก็สั่งได้ แต่สั่งแล้วจะฟังหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผล หากที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายมีมติใดๆ ออกมาคงมีหนังสือมาถึงเอง หากมติของเขาผิดไปจากหลักการที่ กรธ.วางไว้ ก็ต้องนำเหตุผลมาพิจารณา ขณะนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ ใจเย็นๆ อีก 2-3 วัน เดี๋ยวก็รู้” มีชัย ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค.

คำพูดที่ออกมาเช่นนี้กำลังสะท้อนถึงท่าทีของมีชัยที่มีต่อ คสช.ในเชิงเปลี่ยนไปพอสมควร ต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เชิญไปร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย ประธาน กรธ.ไม่เคยบอกปฏิเสธ แม้ว่าเวลานัดประชุมแม่น้ำ 5 สาย จะตรงกับการประชุมของ กรธ.ทุกครั้งก็ตาม ซึ่งมีชัยจะมอบหมายให้รองประธาน กรธ.คนอื่นๆ ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะคุมการประชุมแทน ก่อนที่ตัวเองจะกลับมาแจ้งผลการหารือให้กับ กรธ.คนอื่นๆ ได้ทราบ

อาจเรียกได้ว่ามีชัยให้ความสำคัญกับการประสานงานกับ คสช.และ ครม.อย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากการที่จะเดินทางมานั่งประชุมด้วยตัวเอง หรือแม้แต่การประชุมวงเล็กกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่ ครม.มีข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 16 ข้อ ประธาน กรธ.ก็ไปด้วยตัวเอง

มีชัยค่อนข้างจะใส่ใจกับการทำงานร่วมกันของแม่น้ำ 5 สายพอสมควร มิเช่นนั้นคงไม่ไปนั่งฟังการประชุมด้วยตัวเอง เพราะประธาน กรธ.เล็งเห็นว่าหากให้คนอื่นไปเป็นตัวแทน อาจเกิดปัญหาในการสื่อสารระหว่างกันได้

เคยมีตัวอย่างที่ผิดพลาดให้เห็นแล้วจากกรณีของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้านี้ เนื่องจากมี กมธ.ยกร่างฯ ไปอ้างคำพูดที่เป็นความต้องการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.ในบางประเด็น โดยไม่มีเอกสารยืนยันถึงความต้องการดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นประธาน กรธ.จึงมองว่าควรไปประชุมประสานงานกับ คสช. ครม. สปท. และ สนช.ด้วยตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

ในเมื่อประธาน กรธ.ก็ร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สายทุกครั้ง แต่แล้วทำไมถึงตบหน้า คสช.เบาๆ ด้วยการไม่ประชุมแม่น้ำ 5 สายครั้งล่าสุด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากมีชัยเริ่มออกอาการไม่พอใจกับท่าทีของ คสช.

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งมีชัยตัดสินใจรับตำแหน่งประธาน กรธ. เพื่อทำหน้าที่เขียนร่างรัฐธรรมนูญให้ตามคำเชิญของ คสช.เมื่อหลายเดือนก่อน จะเห็นได้ว่า คสช.ส่งสัญญาณสนับสนุนการทำงานของ กรธ.แบบชัดเจน ถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือแม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มักจะพูดผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งว่า “อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการทำประชามติ”

ผิดกับเมื่อครั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญในยุคของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปรากฏว่าพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ทั้งสองคนไม่ค่อยแสดงการสนับสนุนชัดเจนเหมือนกับที่แสดงออกกับมีชัย

ทว่าในระยะหลังมานี้ คสช.ออกอาการล้วงลูก กรธ.อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อาการล้วงลูกที่ว่านั้นไม่ใช่การแสดงออกผ่านเอกสารของ ครม.ในการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 16 ข้อ เพราะนั่นถือเป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดให้ ครม.ต้องดำเนินการ แต่กลับอยู่ที่การประกาศของ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ว่าต้องการให้ สว.มาจากสรรหาและทำหน้าที่เป็นฝ่ายเฉพาะกิจเพื่อดูแลประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปี

การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อมในแบบที่ให้ผู้สมัครจากแต่ละวิชาชีพที่รัฐธรรมนูญกำหนดเลือกกันเองว่าจะให้ใครเป็น สว.ของ กรธ.นั้นผ่านการศึกษาบทเรียน ข้อดีและข้อเสียของกระบวนในการได้มาซึ่ง สว.ทุกรูปแบบก่อนที่จะเห็นว่าการเลือกตั้งทางอ้อมแบบที่ กรธ.กำหนดออกมามีความเหมาะสมมากที่สุด

แต่เมื่อ คสช.แสดงถึงความไม่พอใจกับที่มา สว.ในเวอร์ชั่นของ กรธ. พร้อมกับให้สัมภาษณ์เสมือนหนึ่งเจ้านายสั่งลูกน้อง ย่อมส่งผลให้มีชัยไม่พอใจพอสมควร จนนำมาซึ่งการอารยะขัดขืน คสช.ของมีชัย

อย่างไรก็ตาม การงัดข้อระหว่าง “กรธ.-คสช.” ไม่น่าจะไปถึงจุดแตกหักจนส่งผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต่างฝ่ายยังต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ คสช.จะลงจากหลังเสือให้สวยไม่ได้ถ้าขาด กรธ. เช่นเดียวกับ กรธ.คงไม่สามารถดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติได้หากปราศจากพลังวิเศษของ คสช.

สุดท้ายเรื่องน่าจะจบลงด้วยการเคลียร์ใจกันของทั้งสองฝ่ายก่อนต่างคนต่างก้มหน้าทำงานกันต่อไป ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามฝันค้างไปว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้เกิดการแตกหักและการล่มไม่เป็นท่าของ คสช.