posttoday

สายล่อฟ้า "ทินพันธุ์" ประธาน สปท.

13 ตุลาคม 2558

การปฏิรูปประเทศเฟสสองรอบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการเดิมพันครั้งสุดท้ายของ คสช.ที่ฝากความหวังไว้กับ ร.อ.ทินพันธุ์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมดสิ้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คนขึ้นมาอีก

การปรากฏตัวของ สปท.รอบนี้ดูเหมือนว่าจะเจอกับเสียงคัดค้านและไม่เห็นด้วยพอสมควร เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกแบบโครงสร้าง สปท.ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่

คสช.กำหนดโครงสร้างของ สปท.โดยให้สัดส่วนกับฝ่ายข้าราชการทั้งในส่วนที่เกษียณและยังไม่ได้เกษียณจำนวนมาก หนำซ้ำสัดส่วนของภาคประชาชนกลับถูกตัดออกจากการเข้ามามีปากมีเสียงในสภาไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นเครื่องคำถามตัวใหญ่ว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ในเมื่อข้าราชการเข้ามาเป็นเสียงข้างมากใน สปท.

ไม่เพียงเท่านี้ อำนาจหน้าที่ของ สปท.ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็เป็นในลักษณะของเสือกระดาษ

สปท.มีอำนาจเหมือน สปช.ทุกประการ แต่ไม่มีหน้าที่ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้ สปท.สามารถเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไปยังรัฐบาลได้ พร้อมกับจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต่อการทำให้การปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทว่า อำนาจของ สปท.ทั้งการเสนอกฎหมายและการจัดทำความเห็นให้รัฐบาล ยังคงเป็นข้อกังขาสำคัญว่ามีไปเพื่ออะไร ในเมื่อที่ผ่านมา สปช.ได้จัดทำรายงานและร่างกฎหมายไปให้รัฐบาลพิจารณาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ไม่เคยบอกต่อสาธารณะว่าได้นำข้อเสนอแนะของ สปช.ไปปฏิบัติแล้วหรือไม่ จึงไม่แปลกที่ สปท.จะถูกเพ่งเล็งว่ามีภารกิจอะไร ตรงนั้นจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ สปท.ต้องแสดงให้สังคมเห็นจนประจักษ์ว่า สปท.ไม่ได้เป็นผลผลิตที่เสียของในอนาคต

ด้วยภารกิจและขวากหนามที่รอ สปท.อยู่ข้างหน้า ส่งผลให้สมาชิก สปท.ที่จะเข้ามาเป็นประธาน สปท. จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

เดิมทีการช่วงชิงตำแหน่งประธาน สปท.มีการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น โดยมีผู้ท้าชิงเก้าอี้ตัวนี้อยู่หลายคน

ไม่ว่าจะเป็น “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ที่กำลังจะหมดวาระจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) “พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์”อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ อดีตสมาชิก สปช. และ “ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ” อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แรกเริ่มต้องยอมรับว่าปานเทพถือเป็นเต็งหนึ่งในเก้าอี้ประธาน สปช. ด้วยสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะผลงานที่ทำไว้ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช. จึงเห็นว่าหากปานเทพมาเป็นประธาน สปท.น่าจะช่วยผลักดันการปฏิรูปให้เดินหน้าได้

แต่สุดท้ายชื่อของ “ร.อ.ทินพันธุ์” ก็มาแรงแซงกว่าทุกโผและได้รับการเลือกเป็นประธาน สปท. เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 13 ต.ค.

พลิกปูมหลังของ ร.อ.ทินพันธุ์ ในทางการเมืองแล้วถือว่าโชกโชน เพราะเคยเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นอดีตนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ 5 รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุจินดา และบิ๊กทหารหลายคนที่ทำการรัฐประหารและตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534

นอกจากนี้ กลุ่มญาติพฤษภาทมิฬ นำโดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ก็ออกมาคัดค้านเพราะเห็นว่าเคยเป็นอดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัย พล.อ.สุจินดา อดีตนายกฯ และ ครม.ชุดนั้นได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ร.อ.ทินพันธุ์ ก็ได้หายไปจากแวดวงการเมือง มุ่งหน้าทำงานด้านวิชาการที่ตัวเองรักต่อไป อย่างไรก็ตามช่วงปี 2543 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.กทม.ในนามพรรคชาติไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น สส.

การที่ สปท.เลือก ร.อ.ทินพันธุ์ เป็นประธาน สปท. ย่อมก่อให้เกิดข้อดีและข้อเสียแก่ สปท.อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในด้านดี แน่นอนว่า ร.อ.ทินพันธุ์ มีความอาวุโสและรอบรู้ในงานด้านวิชาการไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการผลักดันให้ประเทศเกิดการปฏิรูป ประกอบกับเมื่อครั้งเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็มีลูกศิษย์ที่ปัจจุบันเป็นบิ๊กๆ อยู่ในหลายวงการ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ สปท.ทำงานได้ไม่ลำบากมากนัก

เหนืออื่นใดในฐานะที่ ร.อ.ทินพันธุ์ มีความเป็นทหาร เวลาคุยกับ คสช.ที่เป็นทหารด้วยกัน จึงไม่ต่างอะไรกับคนที่มองตาก็รู้ใจ ซึ่ง คสช.น่าจะโอเคมากกว่าถ้าคราวนี้ได้ทหารมาเป็นแม่ทัพในการเดินหน้าการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่ปล่อยให้ฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำทีม

แม้จะมีจุดแข็งในความรู้ทางวิชาการ แต่จุดอ่อนที่อาจจะเป็นแรงเสียดทานให้กับ สปท. คือ การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน

จริงอยู่ ร.อ.ทินพันธุ์ ไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2535 แต่ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายฝ่ายกำลังหวาดระแวงว่า คสช.จะหาช่องทางสืบทอดอำนาจหรือไม่ ย่อมทำให้ สปท.ที่อยู่ภายใต้ดูแลของอดีตบิ๊กในรัฐบาลเมื่อปี 2535 เจอกับกระแสความไม่ไว้วางใจไปโดยปริยาย

การปฏิรูปประเทศเฟสสองรอบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการเดิมพันครั้งสุดท้ายของ คสช.ที่ฝากความหวังไว้กับ ร.อ.ทินพันธุ์ หาก สปท.ทำงานประสบความสำเร็จ คสช.ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.ต้องถูกครหาว่าทำเสียของอีกครั้ง