posttoday

ร่นโรดแมป เร่งร่างรธน.

16 กันยายน 2558

หลังจาก “ร่างรัฐธรรมนูญ” ถูกคว่ำไป กระบวนการต่อจากนี้คือ การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

หลังจาก “ร่างรัฐธรรมนูญ” ถูกคว่ำไป กระบวนการต่อจากนี้คือ การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน และตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 คน เมื่อวันที่ 15 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกการประชุมร่วมแม่น้ำ 3 สาย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมร่วมครั้งแรกตั้งแต่ร่าง รธน.ตกไป

ในที่ประชุม วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย อธิบายโรดแมปการทำงานของรัฐบาลให้ที่ประชุมรับทราบว่า ขณะนี้การดำเนินการอยู่ในโรดแมประยะที่ 2 โดยจะสิ้นสุดลงจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีอายุการทำงานต่อจากนี้ประมาณ 20 เดือน ตามสูตร 6+4+6+4 ที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้

วางกรอบร่าง รธน.กระชับสั้น

ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมร่วมนายกฯ ได้มอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินให้แม่น้ำ 3 สาย ทำงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และเสนอแนะให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาดูว่าจะสามารถกระชับขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกระชับเวลาให้สั้นลงได้หรือไม่ เช่น ระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญจาก 6 เดือน อาจจะเหลือ 4 เดือน หรือบางขั้นตอนที่ใช้เวลา 4 เดือน เหลือ 3 เดือนครึ่ง ซึ่งรวมแล้วจะสามารถกระชับเวลาได้ 2 เดือนครึ่ง อีกทั้งต้องการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ต่างชาติยอมรับ นักการเมืองเข้าใจ เพื่อที่จะได้ผ่านการทำประชามติได้ โดยไม่เป็นปัญหาต่อไปอีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญที่ร่าง โดย กรธ.หากไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงความเป็นไปได้ว่าอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อรองรับหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ โดยไม่ต้องการให้มีการร่างฯ และทำประชามติต่อไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวขณะนี้ เพราะไม่ต้องการให้ถูกข้อครหาว่า เตรียมแผนการเพื่อต่ออายุรัฐบาลและ คสช. ดังนั้น จึงเป็นไปตามที่นายกฯ ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะตัดสินใจนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่าเป็นตัวร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ปี 2540 หรือ 2550 เพราะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน รวมถึงร่างของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่ตกไปแล้วนำมายำรวมกัน เพราะต้องการให้นำเอาเจตนารมณ์ของ คสช.รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35 ที่บัญญัติไว้ว่าต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ 10 ประการ อาทิ กลไกการตรวจสอบและควบคุมอำนาจรัฐ กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูป

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญจะมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) โดยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นกับสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 5 ปี และต้องการให้สานต่อการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปไว้ และต้องการให้ดูแลประชาธิปไตยมีความมั่นคง ต้องไม่มีทางตันในรัฐธรรมนูญอย่างที่แล้วมา

มอบ "พรเพชร" เลือก กรธ.

สำหรับ กรธ.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาคาดว่าจะมีการเสนอชื่อรอบแรกเสร็จสิ้นวันที่ 22 ก.ย. ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐ และจะกลับมาตัดสินใจครั้งสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งมั่นใจว่าจะได้ชื่อ กรธ.ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้คือ วันที่ 5 ต.ค.

ขณะที่คุณสมบัติของ กรธ.จะประกอบด้วย บุคคลที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่เก่งมีฝีมือ มีตรรกะความคิด และมองเห็นปัญหาของประเทศสอดคล้องกับ คสช. อาทิ อดีตเจ้ากรมพระธรรมมนูญทหาร นักกฎหมายรุ่นใหม่ นักรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ ฝากการบ้านต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. อย่างมีนัยด้วยการให้กลับไปคัดเลือกสมาชิก สนช.ที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะไม่มีสัดส่วนของสนช.ที่เคยเข้าร่วม กมธ. รธน.มาก่อน ท่ามกลางคำถามใครจะเหมาะมานั่งประธาน กรธ.

วาง 7 กลุ่มนั่งสปท.

ในส่วนของสภาขับเคลื่อนฯ 200 คน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาเฉลยถึงสัดส่วนผู้ที่จะเป็น สปท. ประกอบด้วย 1.ข้าราชการประจำแต่จะไม่เอาข้าราชการระดับบนสุด 2.ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วต่างรู้ดีว่าควรจะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไร 3.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ โดยไม่ปิดกั้นว่าจะเป็นเสื้อสีใด พรรคการเมืองใด 4.ด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ 5.เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปเดิม ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญและรับร่างรัฐธรรมนูญ 6.พรรค การเมือง และ 7.กลุ่มการเมือง

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่เข้ามาร่วมใน สปท.จะต้องเป็นคนที่รู้เรื่องแผนงานและการจัดทำโครงการ เพราะจะต้องทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ