posttoday

แก้ รธน.ชั่วคราว รื้อประชามติ-ป้องกันครหา

16 กันยายน 2558

กระบวนการร่างรธน.ฉบับใหม่เพื่อให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกำลังมีความคืบหน้าตามลำดับ หลังจาก นายกฯ ยืนยันว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 22 ก.ย.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกำลังมีความคืบหน้าตามลำดับ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันแล้วว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 22 ก.ย. เพียงแต่ยังไม่ยอมเปิดเผยว่าบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

“ใครอยากเป็นก็สมัครมา และผมจะพิจารณาเอง ประเด็นคือ กรธ.เป็นผู้ที่จะมาทำเรื่องกฎหมาย ก็ควรจะมีความรู้เรื่องกฎหมาย ทั้งกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนด้วย พวกนี้ต้องใช้กฎหมายทั้งนั้น ถ้าไม่เอานักกฎหมายมาร่างกฎหมายมันไปไม่ได้หรอก” ท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์

หากโฟกัสที่ตัวประธาน กรธ. ต้องถือว่าชื่อของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังมาแรงแซงเหนือแคนดิเดทคนอื่นในเวลานี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอาจารย์มีชัยเป็นคนที่ตรงกับความต้องการของ คสช.ทั้งในเรื่องบู๊และบุ๋นด้านกฎหมาย ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยคนที่รู้จังหวะหนักเบาเข้ามาทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งหมดก็เหลือเพียงแต่ว่าอาจารย์มีชัยจะรับคำเชิญหรือไม่เท่านั้น

นอกเหนือไปจากความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการตั้งคณะ กรธ.แล้วยังมีเรื่องของการเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เข้ามาเป็นอีกประเด็นที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

ก่อนหน้านี้ คสช.ได้ลงมือแก้มารอบหนึ่งแล้วเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง สนช.ได้ลงมติเห็นชอบไปอย่างรวดเร็ว แต่มารอบนี้ คสช.กำลังจะให้ สนช.เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขใน 2 ประเด็น

1.จำนวนเสียงที่ใช้ตัดสินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านการทำประชามติ เป็นประเด็นที่บรรดาอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ กล่าวคือ ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 บัญญัติว่า “ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ”

ถ้อยคำดังกล่าวกำลังนำไปสู่การตีความแบบกำกวมว่าการจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจะต้องได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง หมายถึงต้องได้จำนวนเสียงเห็นชอบมากกว่า 24 ล้านเสียงโดยประมาณ จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดประมาณ 49 ล้านคน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก

ขณะเดียวกัน คสช.เลือกที่จะแก้ไขเพื่อให้หลายฝ่ายเกิดความสบายใจด้วย เพราะหากเมื่อเข้าสู่การทำประชามติจริงและปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการที่มีเสียงประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่า 24 ล้านเสียง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ย่อมทำให้บางฝ่ายมองว่าเป็นเจตนาของ คสช.ที่ต้องการสร้างประเด็นต่ออายุให้กับตัวเอง เนื่องจากต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบ ย่อมจะส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองไม่ค่อยสดชื่นมากนัก

2.กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดว่าหากประชาชนลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นคณะ กรธ.จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งการไม่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ย่อมเท่ากับว่าต้องกลับไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบจนกว่าจะผ่านการทำประชามติ

กระบวนการที่เป็นวงจรลักษณะนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ คสช.อย่างแน่นอน เพราะผลการทำประชามติที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญย่อมหมายถึงการไม่เห็นชอบกับ คสช.ไปในตัวด้วย และยิ่ง คสช.ยังเดินหน้าวางกลไกยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปอีก แรงกระเพื่อมต่อต้าน คสช.จะมากขึ้นตามไปด้วย

จึงเป็นไฟต์บังคับที่ คสช.ต้องเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยอาจจะแก้ไขด้วยการวางแนวทางไว้ว่าหากเกิดสถานการณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ให้ คสช.มีอำนาจนำรัฐธรรมนูญในอดีตมาปรับปรุงและประกาศให้มีผลบังคับใช้ เหมือนกับกติกาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ได้วางเป็นบรรทัดฐานเอาไว้ หรือใช้อีกวิธีคืออาจปรับปรุงรัฐธรรมนูญในอดีตและส่งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศลงมติให้ความเห็นชอบ

วิธีการนี้ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้ประชาชนลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นประชาชนจะต้องเจอกับรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น คสช.ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนเท่าไหร่นักแทน แต่ในมุมของ คสช.เองก็มองว่าเวลานี้ไม่มีทางเลือก แต่จำเป็นต้องยอมแลกเพื่อให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญ เพราะยิ่งปล่อยให้ประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนานเท่าไหร่ ยิ่งจะส่งผลเสียมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ คสช.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกให้กับตัวเองสำหรับผลักดันให้รัฐธรรมนูญผ่านด่านประชามติแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเส้นทางนับจากนี้ไปจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะคลื่นใต้น้ำลูกใหม่กำลังก่อตัวและเตรียมถล่มทันทีที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ