posttoday

ยกร่าง รธน.ใหม่ ไม่ง่าย

08 กันยายน 2558

เป็นการวัดใจว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จะปรับปรุงเนื้อหาเพื่อลดกระแสต้านในส่วนใดบ้าง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกลับมาตั้งต้นกันใหม่อีกครั้ง หลังมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 135 เสียงต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดทำมาตลอด 9 เดือนผ่านมา   

“เผือกร้อน” ​กำลังเปลี่ยนมือไปที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทั้ง 21 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตั้งขึ้นมาภายใน 30 วัน นับจาก สปช.สิ้นสุดวาระ

แน่นอนว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ต้องเผชิญทั้ง “แรงกดดัน” และ “แรงเสียดทาน” จากรอบด้านมากกว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดเก่า เนื่องจากต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ตอบโจทย์ทุกฝ่าย ไล่มาตั้งแต่ คสช. พรรคการเมือง และที่สำคัญต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชี้ขาดกันด่านเดียวที่การทำประชามติ

อีกทั้งสารพัดเหตุผลที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้นต้องถูกหยิบยกมาเป็นอีกโจทย์ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คน ต้องขบคิดหาทางแก้ไขไม่ให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องติดหล่มอยู่ในวังวนเดิมๆ จนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย

เริ่มตั้งแต่​การคัดสรร 21 กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ การจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับส่วนสำคัญประการแรกคือคนทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและเชื่อถือ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และ เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจให้มาวางกติกาสูงสุดของประเทศ ล้วนแต่เป็นคนกลุ่มเดิมๆ อาจจะมีหน้าใหม่ก็เพียงเล็กน้อยที่เข้ามาเสริมทีมไม่กี่คน

รอบนี้ก็เช่นกันรายชื่อกลุ่มคนเดิมๆ เริ่มกลับมาปรากฏอีกครั้ง ​ทั้ง ประสงค์ สุ่นศิริ, อุทัย พิมพ์ใจชน, อานันท์ ปันยารชุน, แก้วสรร อติโพธิ, คณิต ณ นคร, นรนิติ เศรษฐบุตร, ลิขิต ธีรเวคิน, คมสัน โพธิ์คง, เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ทว่าในแง่ความเป็นไปได้นั้นคงต้องพิจารณากันเป็นรายบุคคลต่อไป

อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ 2557 ฉบับแก้ไข ไม่ได้ห้ามให้อดีตกรรมาธิการยกร่างฯ กลับมาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นั่นย่อมต้องมีบางส่วนที่ถูกดึงมาร่วมงานเพื่อดึงเอาจุดเด่นจุดแข็งที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญมาสานต่อไม่ให้เสียของ

แต่อีกด้านหนึ่งก็จะยิ่งตอกย้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์เดิมๆ ว่าปัญหาที่ยังวนเวียนอยู่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนวางกฎกติกายังเป็นคนกลุ่มเดิม หากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงควรต้องเปิดให้คนหน้าใหม่เข้ามามีบทบาทวางกฎกติกาบ้าง ​

การคัดเลือกบุคคลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แถมรอบล่าสุดนี้เกิดกระแสข่าว “ใบสั่ง” คว่ำรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นส่งคนมาล็อบบี้ สปช. รายคน จนทำให้เสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเบียดแซงขึ้นมาในช่วงโค้งสุดท้าย กลายเป็นหนังคนละม้วนกับก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายช่วยกัน “ตีปี๊บ” ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้จะช่วยพลิกโฉมประเทศในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นในอนาคต และยกระดับพลเมืองเป็นใหญ่

ปรากฏการณ์นี้นอกจากจะส่งผลให้ ​บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ออกมาประกาศไม่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญรอบใหม่แล้ว อีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้ใครก็ตามที่ถูกทาบทามมารับหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้ต้องคิดหนักขึ้น

อีกด้านหนึ่งมีแนวคิดว่าหากต้องการกำหนดทิศทางเนื้อหาให้เป็นไปตามที่ต้องการอาจต้องหาคนที่ คสช.ไว้เนื้อเชื่อใจได้ นั่นก็คือตัวแทนจากกองทัพเข้ามาร่วมนั่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะเห็นว่าหลายเรื่องที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปตามที่ คสช.ต้องการ และถูกมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในที่สุด ​

แต่อีกด้านหนึ่งการดึงเอาคนจากกองทัพมานั่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาและเป็นปัญหาในชั้นการทำประชามติอยู่ดี

นอกจากในแง่ตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว “เนื้อหา” ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญยากมากขึ้น

ดังจะเห็นว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปในชั้น สปช.นั้น ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย เริ่มตั้งแต่ในชั้น สปช.เองที่ทั้งกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย ออกมาตั้งป้อมตั้งแต่แรกว่าไม่เห็นกับทั้งโครงสร้างระบบเลือกตั้ง ไปจนถึงที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา สว. ก่อนที่ 2 พรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะออกมาตั้งป้อมคัดค้านแบบหัวชนฝา

นี่จึงเป็นการวัดใจว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จะปรับปรุงเนื้อหาเพื่อลดกระแสต้านในส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะโครงหลักเรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ว่ากันว่าจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญทำให้ประเทศก้าวพ้นวังวนความขัดแย้งที่เป็นมา หากปรับเป็นระบบใหม่จะต้องมี คำตอบอธิบายให้ชัดเจน ​รวมไปถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ถูกถล่มอย่างรุนแรงว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ​

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานหินของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ต้องชั่งน้ำหนักและหาจุดสมดุลเพื่อสร้างการยอมรับจากทุกฝ่าย​