posttoday

ลุ้นคดีเขาพระวิหารวันนี้ ศาลฎีกาฯพิพากษา ‘นพดล’

04 กันยายน 2558

วันนี้เวลา 13.30 น. จะมีคำพิพากษาคดีใหญ่ระดับชาติที่ศาลฎีกานัดฟังคำตัดสินคดีนพดล ปัทมะปฏิบัติหน้าที่มิชอบหนุนเขมรขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

วันนี้เวลา 13.30 น. จะมีคำพิพากษาคดีใหญ่ระดับชาติที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลนัดฟังคำตัดสินคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

เท้าความที่มาของคดี นพดล รมว.ต่างประเทศขณะนั้น ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยใช้อำนาจเปิดทางให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาของไทย จนทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกัมพูชา หลังจากปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนโดยรอบเขาพระวิหารของสองประเทศยังไม่กระจ่างชัด

ผลจากการลงนามในแถลง การณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าว ทำให้ สส.ฝ่ายค้านและ สว. เข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการลงนามในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ว่าเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551 ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเพราะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทยจนมีการยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.และนำไปสู่การฟ้องร้องนพดลต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฎีกาฯ มีมติรับฟ้องเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556

คดีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของชาติ รวมถึงยังถูกโยงในเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้นพดลได้ชี้แจงและขอความเป็นธรรมจากสังคม

“ผมขอความเป็นธรรมที่ถูกกล่าวหาว่า ขายชาติและถูกบิดเบือนใส่ร้ายมา 6-7 ปี ขอยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลสมัครทำเป็นการปกป้องดินแดนไม่ใช่ขายชาติ แต่ปกป้องชาติ”

หากขีดเส้นใต้คำพูดของนพดลสะท้อนความรู้สึกออกมาถึงความเจ็บปวดที่ถูกกล่าวหาว่าขายชาติ จนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เป็นประเด็นโจมตีมาโดยตลอด ถึงขั้นออกมาประกาศว่า “หากใครกล่าวหาขายชาติจะไล่ฟ้องไม่เว้น”

นอกจากนี้ นพดลยังให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งที่ศาลฎีกาฯ รับฟ้องโดยยืนยันว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะไม่เคยมีเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เนื่องจากมาตรา 190 ไม่ชัดเจน คลุมเครือ จนต้องมีการแก้ไขถึงสองครั้ง

“เรื่องนี้วุฒิสภาเคยลงมติไม่ถอดถอนผมและอัยการสั่งไม่ฟ้องผมแล้ว เพราะเห็นว่าผมไม่ได้กระทำความผิด แต่ ป.ป.ช.ก็ยังอยากจะฟ้องเองโดยตั้งทนายฟ้อง และการบรรยายฟ้องก็เต็มไปด้วยความเท็จและเป็นการใส่ร้าย และยังกล่าวหาว่าผมลุกลี้ลุกลนอำพรางเสนอเรื่องเข้าสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วยกระดาษแผ่นเดียวก็เป็นความเท็จ เพราะมีการประชุมเป็นขั้นเป็นตอนและที่ประชุมก็เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ร่วม”

ก่อนที่จะผลคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จะออกมาวันนี้ ต้องลุ้นว่านพดลจะปรากฏตัวต่อศาลหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าหากศาลตัดสินในทางร้ายว่ามีความผิดถึงขั้นจำคุก ก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ได้อีก จะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำทันที เหมือนคดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งตัดสินไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ จำคุกจำเลยระดับผู้บริหารธนาคาร นักธุรกิจชื่อดังรวมกว่า 20 คน ด้วยโทษจำคุกถึง 18 ปีและ 12 ปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังโทรศัพท์มือถือของนพดล เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ก่อนวันพิพากษา เพื่อสอบถามว่าจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาหรือไม่ แต่ไม่มีคนรับสาย

สำหรับนพดลเป็นอดีตที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือเป็นสายตรง “นายใหญ่” ที่มีบทบาทในพรรคเพื่อไทยในยุครัฐบาลสมัครและรัฐบาลยิ่งลักษณ์

บ่ายนี้รู้กัน รอดไม่รอด?