posttoday

พท.-ปชป. ปลุกคว่ำ รธน. สัญญาณการเมืองแตกหัก

30 สิงหาคม 2558

ปมปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลาย ย่อมจะกลายเป็นชนวนสร้างปัญหาและอาจดึงให้ทุกอย่างกลับมาสู่วังวนความขัดแย้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ลุ้นกันยกแรก ​6 ก.ย.​นี้ ว่าที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)​ จะลงมติ​เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่รายละเอียดเนื้อหารายมาตรา ไปจนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง และทิศทางอนาคตหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ความเห็นชอบ

จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่​ “เนื้อหา” ที่ยัดเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งห่วงกันว่าอาจเป็นการต่อท่ออำนาจให้มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการได้เมื่อจำเป็น

เมื่ออำนาจพิเศษในมือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหวังว่าจะเป็นช่องทางสำหรับยุติปัญหาไม่ให้บานปลายออกไปนั้น กำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ฉุดให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และอาจเป็นชนวนวิกฤตได้

กระแสคว่ำรัฐธรรมนูญที่เคยพูดถึงในแวดวง สปช.​จึงกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ไม่อาจยอมรับในเนื้อหาได้ หรืออีกด้านหนึ่งที่ต้องการยื้อเวลาอำนาจพิเศษออกไปเกินกว่าโรดแมปเดิมที่วางไว้

ทว่า ประเมินสุ่มเสียงตั้งแต่ระดับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงหัวแถวในแม่น้ำแต่ละสายแล้ว มีความเห็นสอดคล้องต้องการเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าไปจนสุดทาง

ดังนั้น แม้จะเห็น สปช.​หลายคนออกมาส่งเสียงขู่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่เนื้อหาเรื่องระบบการเลือกตั้งที่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์การเมือง และจะยิ่งสร้างปัญหาในอนาคต ไปจนถึงประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา สว.ที่ถูกถล่มอย่างหนัก

แต่หากวิเคราะห์แนวโน้มเบื้องต้นเวลานี้เป็นไปได้สูงที่เสียงเกิน 124 จากทั้งหมด 248 เสียงของ สปช. จะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

​จุดเสี่ยงของร่างรัฐธรรมนูญจึงอยู่ที่ “ยกสอง” ในขั้นตอนการทำประชามติ ที่จะต้องใช้เสียงของประชาชนเป็นตัวชี้วัดตัดสินชี้ขาด

อย่าลืมว่าตั้งแต่เริ่มลงมือร่างรัฐธรรมนูญเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น แม้จุดอ่อนหลายประเด็นที่ถูกถล่มจะได้รับการแก้ไข แต่โครงใหญ่และชนวนสำคัญหลายเรื่องยังคงอยู่

แถมล่าสุดท่าทีจาก 2 พรรคใหญ่​ ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ยังพร้อมใจออกมาประสานเสียงไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ​ที่จะยิ่งทำให้กระแสคว่ำรัฐธรรมนูญมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

สำหรับ “เพื่อไทย” คงจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย​ที่ออกมาคัดค้าน​ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งในแง่เนื้อหาที่ประเมินแล้วระบบการเลือกตั้งใหม่จะทำให้จำนวนเก้าอี้เดิมต้องลดน้อยลงไปตามวิธีคำนวณใหม่ หรือในแง่ขั้วอำนาจเก่าที่ถูก คสช.เข้ามายึดอำนาจ ย่อมไม่อาจเห็นดีเห็นงามไปกับกระบวนการต่างๆ ของคณะรัฐประหาร

ดังจะเห็นจากท่าทีที่แสดงออกชัดเจน ตั้งแต่การแถลงการณ์ “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ส่งถึงบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สะท้อนว่า มีการสืบทอดอำนาจ ทำให้ประชาธิปไตยล้าหลัง ​เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ​

เปรียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เสมือนเป็นซูเปอร์บอร์ด มีอำนาจเหนือรัฐบาล ทำลายหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตยและความชอบธรรมของระบบการเมือง

​ต่อเนื่องด้วย อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รับไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะไม่ยึดโยงและไม่ให้อำนาจกับประชาชน “เหมือนอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหญ่ แต่ไม่ให้อำนาจประชาชน อยู่แล้วไม่สุขสบาย”

สอดรับกับ ​พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ช่วงนี้เดินสายอยู่ต่างประเทศ เละเริ่มเปิดหน้าออกมาถล่มร่างรัฐธรรมนูญบ่อยขึ้น ล่าสุด ถล่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “เลวร้ายที่สุด” ​เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

แต่สำหรับ “ประชาธิปัตย์” แม้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ แต่นี่อาจจะเป็นท่าทีชัดเจนครั้งแรกที่ระดับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ออกมาเรียกร้องให้ สปช.​คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นการลงมติวันที่ 6 ก.ย.​

เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญหลายจุด ไม่ใช่เพื่อการสืบทอดอำนาจ เพราะหากปล่อยไปอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต

นี่จึงเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อสองพรรคใหญ่ที่มีฐานมวลชนสนับสนุนทั้งสองพรรคอยู่จำนวนมาก หากต้องตัดสินด้วยการทำประชามติย่อมมีความเป็นไปได้ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบ

ยิ่งช่วงก่อนทำประชามติจะต้องเปิดเวทีให้แต่ละฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ

ด้วยระบบพื้นที่และฐานมวลชนที่เหนียวแน่นของแต่ละพรรค ย่อมจะทำให้แต่ละพรรคมีช่องทางส่งข้อมูลตรงถึงชาวบ้านได้โดยตรง และมีประสิทธิภาพมากกว่าข้อมูลจากส่วนกลาง

แม้ทาง คสช.​จะพยายามคุมสถานการณ์ไม่ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว ปลุกปั่น หรือสร้างปัญหาทางการเมือง แต่ในช่วงสุดท้ายก่อนทำประชามติย่อมไม่อาจปิดหูปิดตาไม่ให้มีความเคลื่อนไหวได้ เพราะจะยิ่งทำให้การทำประชามติไม่เป็นที่ยอมรับ

​ทว่า แม้สุดท้าย​ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจนสามารถประกาศใช้ได้ แต่เมื่อทั้งสองพรรคใหญ่ต่างประกาศไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในหลายแง่หลายมุม

ถึงวันนั้้น ปมปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลาย ย่อมจะกลายเป็นชนวนสร้างปัญหาและอาจดึงให้ทุกอย่างกลับมาสู่วังวนความขัดแย้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง